อาชีพ ทำกิน รายได้,  อาชีพ พอเพียง,  เกษตร เศรษฐกิจ พอเพียง การปลูก

อาชีพ เกษตร พอเพียง การปลูก การผลิต ผักปลอดภัยจากสารพิษ

ผัก เป็นพืชอาหารที่คนไทยนิยมรับประทานกันมาก เนื่องจากให้คุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูง แต่ค่านิยมในการบริโภคนั้น มักจะเลือกบริโภคผักที่สวยงาม ไม่มีร่องรอยการทำลายของหนอนและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผักต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงในปริมาณที่มาก ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารพิษที่ตกค้างอยู่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ โดยการนำเอาวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชหลายวิธีมาประยุกต์รวมกัน จึงเป็นทางเลือกสำหรับความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ผักปลอดภัยจากสารพิษ หมายถึง ผลผลิตพืชผักที่ไม่มีสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่หรือมีการตกค้างอยู่ไม่เกินระดับมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในประกาศกระทรวสาธารณสุขฉบับที่ 288 พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 17 มกราคม 2548 เรื่องอาหารที่มีสารพิษที่ตกค้าง

ปัจจัยที่จำเป็น

พื้นที่ปลูก พันธุ์ ปุ๋ย วัสดุป้องกันกำจัดศัตรูพืช (เช่น กับดัก กาวเหนียว กับดักแสงไฟ วัสดุคลุมดินสารชีวภัณฑ์์ สมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ) โรงเรือนมุ้งตาข่าย ฯลฯ ขึ้นกับวิธีที่เลือกใช้

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. การเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม
ควรเป็นพื้นที่ราบ สม่ำเสมอ ไม่มีน้ำท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี ใกล้แหล่งน้ำที่สะอาด และมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก

2. การเตรียมพันธุ์
เลือกใช้พันธุ์ที่ต้านทานศัตรูพืชและปลอดเชื้อโรค กรณีที่ใช้เมล็ดพันธุ์ควรดำเนินการดังนี้
2.1 คัดแยกเมล็ดที่เสียออก
2.2 แช่เมล็ดในน้ำอุ่น ที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-30 นาทีเพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ และถ้ามีเมล็ดบางส่วนลอยขึ้นมาให้นำไปทิ้ง เนื่องจากเป็นเมล็ดที่ไม่ได้คุณภาพ

3. การเตรียมดิน
ไถและพรวนดินให้ละเอียด โดยไถดะลึก 1 ครั้ง และตากดินไว้ไม่น้อยกว่า 7 วันและไถพรวนดินอีก 1 ครั้ง แล้วยกร่องตากดินประมาณ 7 วัน เพื่อกำจัดแมลงและเชื้อโรคที่อยู่ในดิน

4. การปรับปรุงดินแปลงปลูก
ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตันต่อไร่ โดยคลุกเคล้าให้ทั่วแปลงเป็นเนื้อเดียวกันกับดิน และควรมีการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมโดยใช้ปูนขาวหรือปูนมาร์ลอัตรา 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วแล้วคลุกเคล้ากับดิน

5. การปลูกและดูแลรักษา
ระยะปลูก ควรปลูกผักให้มีระยะห่างพอสมควร อย่าให้แน่นเกินไป เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีการใส่ปุ๋ย ธาตุอาหารส่วนใหญ่จะมีอยู่แล้วในดิน แต่ธาตุไนโตรเจนและโพแตสเซียมจะถูกชะล้างได้ง่าย ดังนั้นจะต้องให้ปุ๋ยทั้งสองในระหว่างการเจริญเติบโตของผัก แต่อย่าให้ชิดโคนต้น โดยใส่ครั้งแรกหลังปลูกผักไปแล้ว 3 สัปดาห์ และครั้งที่ 2 ใส่หลังจากครั้งแรก 2-3 สัปดาห์ หรือเมื่อผักเริ่มออกดอกติดผล เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วให้พรวนดินกลบและรดน้ำ
การควบคุมวัชพืช
การควบคุมวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดี เช่น การคลุมดินโดยฟางข้าวหรือพลาสติกสีเทาเงินจะช่วยรักษาความชื้นในดิน และบังแสงสว่างทำให้เมล็ดวัชพืชโตช้า

6. การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน
เพื่อให้การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ควรใช้วิธีการป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชหลายๆ วิธีผสมผสานกัน ดังนี้

6.1 การใช้กับดักกาวเหนียว
กับดักชนิดนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมใช้ในการควบคุมปริมาณตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืช โดยทั่วไปนิยมใช้กาวเหนียวทาบนวัสดุที่มีสีเหลือง เช่น แผ่นพลาสติกหรือกระป๋องน้ำมันเครื่อง ควรติดตั้งในแปลงผักให้สูงกว่ายอดผักประมาณ 30 เซนติเมตร โดยจะใช้ประมาณ60-80 กับดักต่อไร่

6.2 การใช้กับดักแสงไฟ
เป็นการใช้แสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ (หลอดนีออน) หรือหลอดแบล็คไลท์ล่อแมลงในเวลากลางคืนให้มาเล่นไฟ และตกลงไปในภาชนะที่บรรจุน้ำมันเครื่อง หรือน้ำที่รองรับอยู่ด้านล่างควรติดตั้งประมาณ 2 จุดต่อไร่ โดยติดให้สูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร และให้ภาชนะรองรับอยู่ห่างจากหลอดไฟ 30 เซนติเมตร และควรปิดส่วนอื่นๆ ที่จะทำให้แสงสว่างส่องกระจายเป็นบริเวณกว้างเพื่อไม่ให้ล่อแมลงจากที่อื่นเข้ามาในแปลง

6.3 การใช้พลาสติกหรือฟางข้าวคลุมแปลงปลูก
เป็นการควบคุมปริมาณวัชพืชและเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้นาน และเป็นการประหยัดน้ำที่ใช้รดแปลงผัก ควรใช้กับพืชที่มีระยะปลูกแน่นอน ควรใช้พลาสติกสีเทา-เงินสำหรับแปลงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสที่มีเพลี้ยอ่อนหรือแมลงเป็นพาหะ 6.4 การปลูกผักในโรงเรือนมุ้งตาข่ายไนล่อนพื้นที่ที่ใช้ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกผักได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อเป็นการได้คุ้มค่าต่อการสร้างโรงเรือนและการใช้ตาข่ายไนล่อน โครงสร้างโรงเรือนอาจทำด้วยไม้หรือเหล็กก็ได้ส่วนตาข่ายที่ใช้จะเป็นตาข่ายไนล่อนสีขาวขนาด 16 ช่องต่อความยาว 1 นิ้ว วิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้เพียงหนอนผีเสื้อ และด้วงหมัดผักเท่านั้น หากต้องการป้องกันแมลงชนิดอื่นๆ อาทิ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนแมลงวันชอนใบ แมลงหวี่ขาว ไร ต้องใช้มุ้งไนล่อนความถี่ขนาด 24 หรือ 32 ช่องต่อนิ้ว แต่อาจมีปัญหาเรื่องอุณหภูมิและความชื้นภายในมุ้ง ประเภทผักที่เหมาะสมกับการปลูกในโรงเรือนมุ้งไนล่อน ได้แก่ คะน้า
ผักกาดขาว กวางตุ้งฮ่องเต้ ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง ขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก บล็อกโคลี่ ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ถั่วลันเตา ฯลฯ

6.5 การควบคุมโดยวิธี
เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตควบคุมศัตรูพืช ซึ่งได้แก่ แมลงตัวห้ำ ตัวเบียน ที่ทำลายแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นๆหรืออาจใช้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น เชื้อบักเตรี เชื้อไวรัส เชื้อรา ไส้เดือนฝอย

6.6 การใช้สารสกัดจากพืช
พืชที่นิยมนำมาใช้เป็นสารสกัดควบคุมโรคและแมลง คือ สะเดา เนื่องจากมี“สารอะซาดิแรคติน” ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกัน และกำจัดแมลงได้โดยสามารถใช้ฆ่าแมลงได้บางชนิด
l ใช้เป็นสารไล่แมลง
l ทำให้แมลงไม่กินอาหาร
l ทำให้การเจริญเติบโตของแมลงผิดปกติ
l ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง
l ยับยั้งการวางไข่ และการลอกคราบของแมลง
l เป็นพิษต่อไข่ของแมลง ทำให้ไข่ไม่ฟัก
l ยับยั้งการสร้างเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารของแมลงทั้งนี้มีข้อควรระวัง คือ พืชบางชนิดเมื่อได้รับสารนี้แล้วอาจเกิดอาการใบไม้เหี่ยวย่น หรือ ต้นแคระแกร็น ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าวควรงดใช้ทันที หรือใช้ในปริมาณที่ต่ำลง


แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร