อาชีพ ทำกิน รายได้,  อาชีพ พอเพียง,  เกษตร เศรษฐกิจ พอเพียง การปลูก

อาชีพ เกษตร พอเพียง การปลูก การปลูกไผ่ตง

ไผ่ ถูกจัดให้เป็นพืชอเนกประสงค์ และสารพัดประโยชน์ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ หน่อสามารถนำมาประกอบอาหาร หรือแปรรูปเป็นหน่อไม้ปิ๊บ(ต้มบรรจุปิ๊บ) ลำต้นสามารถใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำนั่งร้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือทำเยื่อกระดาษใบใช้ห่อขนม ทำหมวก ทำหลังคา กิ่งและแขนงใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และกิ่งแขนงของไผ่ยังนิยมใช้มาเป็นส่วนขยายพันธุ์ พันธุ์ไผ่ที่สำคัญ และเป็นที่นิยมปลูกในการบริโภค ได้แก่ ไผ่ตง ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกไผ่ตงเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมก็ได้ เพราะไผ่ตงเป็นไม้โตเร็ว สามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิดและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ

ปัจจัยจำเป็นที่ต้องใช้

1. พันธุ์ไผ่ตง
ไผ่ตง สามารถจำแนกเป็นพันธุ์ต่างๆ ได้ 5 พันธุ์ ด้วยกันคือ

“ตงดำหรือตงจีน” เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุด เนื่องจากมีรสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดมีความต้องการมาก ให้ผลผลิตสูง และเป็นพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้เป็นตงหมก (ไผ่ตงหวาน)ซึ่งจะขายได้ราคาสูงกว่าไผ่ตงธรรมดาที่ไม่ได้หมักถึง 2 เท่าตัว

“ตงหม้อหรือตงใหญ่” เป็นพันธุ์ที่มีต้นขนาดใหญ่และมีการแตกกิ่งแขนงน้อย ทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปได้น้อยและช้า การออกหน่อไม่ดก เพราะออกเฉพาะช่วงกลางฤดูฝน และช่วงเวลาที่ออกหน่อสั้นมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ทำให้ไม่เป็นที่นิยมปลูกมากนัก

“ไผ่ตงเขียว” เป็นไผ่ขนาดกลาง และสามารถทนความแห้งแล้งได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีช่วงการออกหน่อกว้างกว่าพันธุ์อื่น คือ จะออกหน่อถึง 2 ช่วง คือฤดูฝนและระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่มีไผ่ตงออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ขายได้ราคาสูง แม้คุณภาพจะด้อยกว่าไผ่ตงดำ

“ไผ่ตงไต้หวันชนิดใหญ่” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มาจู” และไผ่ตงไต้หวันชนิดเล็ก หรือ“ลิ่วจู” ซึ่งหน่อของไผ่ตงทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถรับประทานดิบๆ ได้เพราะมีรสหวานกรอบ และเนื้อละเอียด

หมายเหตุ การปลูกไผ่ตงพันธุ์ไต้หวัน เช่น ไผ่มาจูจะต้องมีการกลบดินสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตรในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ก่อนที่จะแทงหน่อ เพราะหากหน่อถูกแสงแดดกาบจะเป็นสีเขียว มีรสขมและไม่สามารถรับประทานได้

2. ดิน
ไผ่ตงจะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดี ไม่ชอบสภาพดินปลูกที่มีน้ำท่วมขังเพราะถ้าโดนน้ำท่วมขังจะทำให้ราก หน่อ และเหง้าเน่าตายได้ง่าย และดินที่เหมาะกับการปลูกควรเป็น
ดินกรดหรือดินเปรี้ยว

หมายเหตุ ถ้าจะปลูกในบริเวณที่ลุ่มมีน้ำท่วมถึง ควรทำการยกร่องให้สูงพ้นน้ำ

3. ภูมิอากาศ
ไผ่ตงเป็นพืชที่ทนความแล้งได้ดี พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำตั้งแต่ 1,100 มิลลิเมตร ขึ้นไปก็สามารถปลูกได้

ขั้นตอนการดำเนินการ

1. การเตรียมดิน
ควรทำในช่วงก่อนฤดูฝน โดยกำจัดวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมด ไถพรวนดิน 2 ครั้งครั้งแรกให้ไถดะตากดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงไถพรวนอีกครั้งให้ดินย่อยละเอียด

2. ระยะปลูก
ระยะปลูกของไผ่ตง ควรคำนึงถึงเรื่องพันธุ์และสภาพดินเป็นหลัก ดังนี้
– ไผ่ตงหม้อหรือตงใหญ่ ต้องใช้ระยะปลูกกว้างกว่าพันธุ์อื่น ระยะที่เหมาะสมคือ 8×8 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 25 ต้น
– ไผ่ตงดำ ระยะปลูกในพืชที่ดินดี มีธาตุอาหารพืชสมบูรณ์ ระยะปลูกควรเป็น 8×8 เมตรไร่หนึ่งปลูกได้ 25 ต้น แต่ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง หรือ ต่ำ อาจใช้ระยะ 6×6 เมตรซึ่งต้องมีการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างดี โดยการตัดแต่งกอ และให้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี
– ไผ่ตงเขียว ระยะปลูกควรเป็น 8×8 เมตร หรือ 6×8 เมตร สามารถปลูกได้35-45 ต้นต่อไร่ หมายเหตุ ถ้าในสภาพที่ดินไม่ดีนัก ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ควรปลูกเฉพาะไผ่ตงสีเขียวเพราะเป็นพันธุ์ที่ทนแล้งได้ดีกว่าไผ่ตงดำ

3. วิธีปลูก
ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากดินจะมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยการปลูกจะวางกิ่งให้เอียง45 องศาเซลเซียสกับพื้นดิน จะทำให้ไผ่ตงแทงหน่อได้เร็วกว่าการปลูกโดยไม่เอียงกิ่งพันธุ์

หมายเหตุ ในการปลูกปีแรก – ปีที่ 3 ควรปลูกพืชแซม เช่น พริก มะเขือ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมรายได้แล้วยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารแก่ดินอีกด้วย

4. การเก็บเกี่ยว
ไผ่ตงที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป สามารถตัดหน่อออกขายได้ โดยสามารถตัดหน่อออกขายได้ทุก 4-5 วัน นิยมตัดหน่อในตอนเช้า เนื่องจากจะได้หน่อที่สด และมีรสชาติหวาน

ตลาด และผลตอบแทน

ในการจำหน่ายหน่อไม้ไผ่ตงสด เกษตรกรจะจำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางจากปากคลองตลาดส่วนหนึ่งและโรงงานหน่อไม้อัดปิ๊บส่วนหนึ่ง โดยในระยะต้นฤดูและปลายฤดู คือ ช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคม และสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เป็นช่วงที่มีหน่อไม้ออกสู่ตลาดน้อย และมีราคาดี อาจมีราคากิโลกรัมละ
10-15 บาท ผลผลิตส่วนใหญ่จะขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะเสียค่าขนส่งเองเพื่อนำไปจำหน่ายให้
ผู้บริโภคต่อไป แต่ในระยะที่ไผ่ตงมีหน่อออกสู่ตลาดมากประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมราคาจะต่ำลงบางครั้งราคากิโลกรัมละ 1.00-1.50 บาท ในช่วงนี้เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตหน่อไม้ตงอัดปิ๊บเพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่วนหนึ่งจะส่งออกต่างประเทศ โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ไผ่ตงจะสามารถให้ผลผลิตเต็มที่ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป แต่ละกอมีผลผลิตประมาณ 30-40 หน่อ และมีน้ำหนักประมาณ 45-80 กิโลกรัม หรือใน 1 ไร่ จะมีผลผลิตเป็นน้ำหนักประมาณ 1,125-2,000 กิโลกรัม และตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป เกษตรกรจะเสียค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกต่อไร่เฉลี่ย 2,790 บาท

แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร