อาชีพ ทำกิน รายได้,  อาชีพ พอเพียง,  เกษตร เศรษฐกิจ พอเพียง การปลูก

อาชีพ เกษตร พอเพียง การปลูก อ้อยคั้นน้ำครบวงจร

น้ำอ้อยเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์รสชาติหวานหอมอร่อยแก้กระหายได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในเขตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว การจำหน่ายน้ำอ้อยจึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี พันธุ์ของอ้อยที่นิยมนำมาคั้นน้ำกันมากได้แก่ พันธุ์สิงคโปร์ พันธุ์สุพรรณบุรี50 พันธุ์สุพรรณบุรี72 พันธุ์เมอริซาร์ท

ปัจจัยที่ใช้ในการปลูกอ้อยพันธุ์คั้นน้ำ

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วมขัง การคมนาคมสะดวก ห่างไกลจากแหล่งมลพิษควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนเหนียว ร่วนปนทรายหรือดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางขึ้นไประดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ระหว่าง 5.5-7.0สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 30-35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี และมีแหล่งน้ำเพียงพอ

ลักษณะพันธุ์

พันธุ์สุพรรณบุรี 50 ใบสีเขียวเข้ม ลำมีขนาดใหญ่สีเขียวอมเหลือง ปล้องยาวเป็นรูปทรงกระบอกแตกกอ 5-6 ลำต่อกอ ไว้ตอได้ 3-4 ครั้ง ทนทานต่อโรคลำต้นเน่าแดง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือนผลผลิตน้ำอ้อย 4,600-5,200 ลิตรต่อไร่ ความหวาน 15-17 บริกซ์ เหมาะสำหรับปลูกทั้งในสภาพที่ดอนและที่ลุ่ม

พันธุ์สิงคโปร์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกร อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิยมปลูกในอดีต ใบสีเขียวอ่อน ลำมีขนาดใหญ่สีเหลืองเข้ม ปล้องสั้นเป็นรูปข้ามต้มหรือป่องกลาง แตกกอ 3-4 ลำต่อกอ ไว้ตอไม่ได้ อ่อนแอต่อโรคลำต้นเน่าแดง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อย 2,100-2,800 ลิตรต่อไร่ ความหวาน 13-15 บริกซ์ เหมาะสำหรับปลูกในสภาพที่ลุ่ม

การเตรียมดิน

การปลูกอ้อยในพื้นที่ต่างกันจะต้องเตรียมดินต่างกัน ดังนี้
– ในสภาพที่ลุ่ม ต้องขุดเป็นร่องหรือยกร่อง โดยมีสันร่องกว้าง 5-6 เมตร ความยาวร่องตามขนาดพื้นที่ และให้มีคูน้ำรอบแปลงลึกประมาณ 1 เมตร
– ในสภาพที่ดอน เป็นการปลูกในพื้นที่ราบ จึงควรมีการปรับระดับพื้นให้มีความลาดเอียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ กรณีถ้าดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ควรหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบไถด้วยผานสาม 1 ครั้ง ลึก 30-50 เซนติเมตรตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผานเจ็ด 1-2 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษ ซาก ราก เหง้า หัว และไหล
ของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง

การเตรียมท่อนพันธุ์

– ใช้ท่อนพันธุ์อายุ 6-8 เดือน จากแหล่งและแปลงที่ไม่มีโรคลำต้นเน่าแดงระบาด หรือจัดทำแปลงพันธุ์ไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยเตรียมแปลงพันธุ์ 1 ไร่ สำหรับแปลงปลูก 10 ไร่
– ใช้มีดตัดลำอ้อยชิดโคน และตัดยอดอ้อยต่ำกว่าคอใบสุดท้ายที่คลี่แล้วประมาณ 20 เซนติเมตรลอกกาบใบตัดอ้อยเป็นท่อน จำนวน 3 ตาต่อท่อน แล้วนำไปปลูกทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 7 วัน
– ตรวจแปลงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการระบาดของโรค ลำต้นเน่าแดง ต้องขุดกออ้อยออกเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที

วิธีการปลูก

– ปลูกเป็นแถวเดี่ยวทั้งในแปลงพันธุ์และแปลงปลูก
– วางท่อนพันธุ์ในร่อง ให้มีระยะระหว่างท่อน 50 เซนติเมตร
– กลบดินให้สม่ำเสมอ สำหรับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 กลบหนา 3-5 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์สิงคโปร์ กลบหนา 1-2 เซนติเมตร

การให้ปุ๋ย
ให้ปุ๋ยหลังปลูก หรือหลังแต่งตออ้อย 2 ครั้ง
– ลักษณะดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินเหนียว ให้ปุ๋ยครั้งแรกเมื่ออายุ 1 เดือนอัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่สองเมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่
– ลักษณะดินร่วนปนทราย ให้ปุ๋ยครั้งแรกพร้อมปลูกอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งสองเมื่อ 3 เดือน อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้อาจใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเกษตร เพื่อเป็นการประหยัดเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนได้

การให้น้ำ
– ให้น้ำทันทีหลังปลูก เพื่อให้อ้อยงอกสม่ำเสมอหลังจากนั้นให้น้ำทุก 2-3 สัปดาห์ ในสภาพที่ลุ่มให้น้ำโดยการตักน้ำสาดหรือใช้เครื่องสูบน้ำวางลงในเรือขนาดเล็ก สูบน้ำจากร่อง ในสภาพที่ดอนให้น้ำประมาณครึ่งร่อง โดยไม่ต้องระบายน้ำออก
– งดให้น้ำ 2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยว ถ้าในช่วงเก็บเกี่ยวมีฝนตกหนัก ต้องระบายน้ำออกจากร่องทันทีให้เหลือไม่เกินครึ่งร่อง

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
– เก็บเกี่ยวอ้อยที่อายุประมาณ 8 เดือน
– น้ำอ้อยมีความหวาน 13-17 บริกซ์
– ลำอ้อยมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร
– ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้าหรือเย็น ขณะที่อากาศไม่ร้อนจัด

วิธีการเก็บเกี่ยว
– ตัดเฉพาะลำอ้อยที่มีอายุ 8 เดือน สังเกตได้คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 จะมีลำสีเขียวอมเหลือง สำหรับพันธุ์สิงคโปร์จะมีสีเหลืองเข้ม
– ใช้มีดถากใบและกาบออกทั้งสองด้าน อย่าให้เปลือกหรือลำเสียหาย ตัดลำอ้อยชิดดิน แล้วตัดยอดอ้อยต่ำกว่าจุดคอใบประมาณ 25 เซนติเมตร วางบนแคร่หรือพื้นที่สะอาด ห้ามวางบนพื้นดิน

การทำน้ำอ้อยคั้น
ปัจจัยที่จำเป็นต้องใช้ทำอ้อยคั้นน้

1. ท่อนอ้อย ความยาวประมาณ 75-90 เซนติเมตร
2. เครื่องคั้นน้ำอ้อย ก่อนใช้ล้างลูกหีบด้วยน้ำสะอาดแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
3. ภาชนะบรรจุน้ำอ้อย ภาชนะที่ใช้อาจเป็นขวดแก้ว หรือขวดพลาสติกพร้อมฝาปิดสามารถปิดได้สนิท ซึ่งก่อนบรรจุต้องล้างทำความสะอาดและคว่ำขวดไว้จนกว่าจะแห้ง
4. วัสดุการผลิตอื่นๆ เช่น ผ้าขาวบาง มีด ตระกร้า และภาชนะรับอ้อย ต้องทำความสะอาดก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. นำท่อนอ้อยที่หั่นเป็นท่อนแล้วไปปอกเปลือกออกให้ทั่วทั้งลำ แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาดทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. นำท่อนอ้อยที่ล้างสะอาดแล้ว เข้าเครื่องคั้นน้ำอ้อย ลูกหีบจะดึงท่อนอ้อยเข้าไปเองช้าๆจนตลอดท่อนอ้อยเพื่อแยกชานอ้อยกับน้ำอ้อยออกจากกัน นำน้ำอ้อยที่ได้กรองด้วยผ้าขาวบางที่สะอาดหนา 4 ชั้น (เพื่อความสะดวกในการทำงานและความสะอาดของน้ำอ้อย ควรต่อท่อจากภาชนะรองรับน้ำอ้อยของเครื่องคั้นน้ำอ้อยจนถึงภาชนะใส่น้ำอ้อย โดยผ่านผ้าขาวบางที่ปิดคลุมภาชนะใส่น้ำอ้อยไว้)

ผลผลิต

น้ำอ้อยพร้อมดื่มที่บรรจุขวดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นหรือแช่ไว้ในถังน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส จะเก็บไว้ได้นานถึง 4 วัน หากจะเก็บนานกว่านั้น ควรเก็บในลักษณะแช่แข็ง

แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร