Thailand Commodities ครัวไทยสู่ครัวโลก

ประโยชน์ที่แท้จริงของการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม

ปฏิเสธไม่ได้ว่างานวิจัยและนวัตกรรมช่วยสร้างผลิตภัณฑ์และมูลค่ามากกว่าเดิมแต่มากกว่านั้นยังช่วยให้ผู้ประกอบการข้ามขีดจำกัดการเพาะปลูกและการแปรรูปอาหาร รูปแบบการค้าในโลกยุคใหม่ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มาสำรวจกันว่างานวิจัยและนวัตกรรมมีประโยชน์กับธุรกิจอาหารอย่างไรบ้าง

ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

เมื่อเราใช้งานวิจัยควบคู่กับนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการบริหารจัดการระบบการผลิตที่ทันสมัย ย่อมทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารได้รับการรับรองความปลอดภัย รวมไปถึงสินค้ามีความหลากหลายและแปลกใหม่ เช่น กระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูจากเนื้อมังคุดในขั้นตอนเดียวและสูตรจุลินทรีย์ MV-F1 ที่ สวทช.พัฒนาขึ้นจนกลายมาเป็นกระบวนการอย่างง่ายและลดระยะเวลาการหมักจาก 1 ปีเหลือเพียง 2 เดือนรวมทั้งน้ำส้มสายชูที่ได้จากกระบวนการนี้ยังมีคุณภาพและความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

เพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร

ในปี 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มปริมาณมากกว่า 9,000 ล้านคน ส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึง 70% แต่สวนทางกับผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง เพราะเป็นผลมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้สตาร์ตอัพทั่วโลกจึงยิ่งใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตอาหารเพื่ออนาคต เช่น การผลิตเนื้อสัตว์ในห้องปฏิบัติการ (อ่านต่อได้ที่ “เทรนด์อาหารของโลกอนาคต”)ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหารและยังช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงสัตว์ลงได้ เป็นต้น

ลดปัญหาปริมาณการทิ้งอาหาร

ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือFAOรายงานว่าแต่ละปีมีอาหารทิ้งมากมายเกือบ1,300ล้านตันซึ่งมากกว่าปริมาณอาหารที่ต้องช่วยเหลือคนยากคนจนผู้หิวโหยทั่วโลก 1,000ล้านคน ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายจึงพยายามหาแนวทางนำของเหลือจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ และสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเก็บรักษาคุณค่าอาหารให้ได้นานที่สุดเช่นบริษัทน้ำตาลมิตรผลร่วมกับสวทช.วิจัยการนำกากน้ำตาลที่เหลือมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ หรือบรรจุภัณฑ์ควบคุมการผ่านของก๊าซและไอน้ำสำหรับผลิตผลสด หรือ ActivePAK ผลงานของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค)ถุงดังกล่าวมีคุณสมบัติทำให้รักษาความสดและคุณค่าของผลิตผลสดได้นานยิ่งขึ้น จึงลดปริมาณผักสดที่เน่าเสียลงได้ เป็นต้น

ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม

ทุกวันนี้ความต้องการอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม และมีความต้องการอาหารที่เฉพาะตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารปลอดสารเคมี อาหารสำหรับคนลดน้ำหนัก อาหารสำหรับผู้แพ้อาหาร อาหารสำหรับคนสูงอายุ ผู้ประกอบการจึงต้องตื่นตัวและปรับกระบวนการผลิตเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองความต้องการอันหลากหลาย เช่นไส้กรอกไขมันต่ำสำหรับคนรักสุขภาพ,ขนมปังแซนด์วิชและครัวซ็องปราศจากกลูเตนสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน,ไส้เบอร์เกอร์เห็ดสำหรับผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติหรือเจทั้งหมดเป็นผลงานการวิจัยจากความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และภาคเอกชน เป็นต้น