Thailand Commodities ครัวไทยสู่ครัวโลก

หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางชีวภาพ Biosensing Technology Unit

ทำงานวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการตรวจวิเคราะห์เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหาร โดยวิจัยและพัฒนาตัวอย่างที่มีความจำเพาะเจาะจงการพัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจที่สามารถตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพได้ทีละหลายตัวพร้อมๆ กัน และการตรวจสารก่อโรคปนเปื้อนในอาหาร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีความปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า พร้อมกันนี้ได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์สารชีวโมเลกุล (Metabolites) การตรวจคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารด้วยการตรวจสารเมตาโบไลต์การตรวจสารอาหารเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้คงเหลือสารอาหารที่ต้องการ และการตรวจสารอาหารที่สำคัญรวมถึงการให้บริการเชิงพาณิชย์ในการตรวจวัดระดับ Biomarker

สำหรับงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมการเกษตรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยการค้นหาสารบ่งชี้ทางชีวภาพที่มีความจำเพาะ และสามารถตรวจได้ทีละหลายตัวพร้อมๆ กันเช่นการนำเทคโนโลยีแบบอะเรย์ไม่ว่าจะเป็นแอนติบอดีอะเรย์หรือบีดอะเรย์เพื่อเป็นชุดตรวจเชื้อก่อโรคในพืชทีละหลายๆ ชนิด พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นเรื่องการตรวจโรคในปลาและกุ้ง และการตรวจความสมบูรณ์พันธุ์ของกุ้งโดยการใช้ดีเอ็นเอไมโครอะเรย์ Next Generation Sequencing และ In Silico Methods ทำการศึกษาในระดับ Genomics และ Transcriptomics เพื่อศึกษาหาสารชีวโมเลกุลที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์พันธุ์ของกุ้งกุลาดำ การใช้เทคโนโลยี Bead Array ศึกษาประชากรแบคทีเรียในลำไส้กุ้ง เพื่อหาตัวบ่งชี้ถึงแบคทีเรียกลุ่มที่มีประโยชน์ และอาจพัฒนาเป็น Probiotics ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันสัตว์น้ำ เช่น กุ้งกุลาดำ การใช้เทคโนโลยีแลมป์ร่วมกับวัสดุนาโน ร่วมกับเทคโนโลยี Microfluidics และแลมป์เปลี่ยนสี (LAMP-color) รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี Electrochemical Sensor เพื่อการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคในสัตว์น้ำ