Thailand Commodities ครัวไทยสู่ครัวโลก

การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปัจจุบัน

อย่างที่รู้กันดีว่า “อุตสาหกรรมอาหาร” นับเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่เพียงกระจายรายได้ให้เกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปยังธุรกิจอื่นๆที่เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนซึ่งทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ มากมาย ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศ และสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมอาหารจึงได้รับการสนับสนุนตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 อย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่าอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2554 มีมูลค่าการส่งออกเติบโตขึ้นถึง 10 เท่า และจากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารไทยสร้างมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.015 ล้านล้านบาท และประเมินกันว่ามูลค่าส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารไทย
ปี2561จะเติบโตขึ้นไปที่ 1.12ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น10% เลยทีเดียว

โดยมีสาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนเป็นปัจจัยสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตต่อเนื่องหลากหลายมิติ เช่น การมุ่งเน้นการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน จีนแอฟริกา และตะวันออกกลาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้

สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน อาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ หรือในกลุ่มอาหารที่คาดว่าจะเป็นอาหารเพื่ออนาคต

จากการส่งออกอาหารที่เติบโตขึ้นทำให้ประเทศไทยติดอันดับผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ตามมาติดๆด้วยประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อสำรวจรูปแบบสินค้าอาหารส่งออกของประเทศไทยจะพบว่า ประเภทของสินค้ามีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมากขึ้นโดยในปี 2541 สัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีเพียง 35% ส่วน 65% เป็นการส่งออกอาหารสด วัตถุดิบ และแปรรูปขั้นต้น แต่ในปี 2559สินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีสัดส่วนส่งออกเทียบเท่ากับกลุ่มสินค้าอาหารสด วัตถุดิบ และแปรรูปขั้นต้นมาอยู่ที่ 50% เลยทีเดียว

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะฉายภาพให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอาหารไทย แต่เป็นการอาศัยปัจจัยภายนอกทั้งในเรื่องการลงทุนและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นหลัก ที่สำคัญที่สุดคือการส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตรหรือการแปรรูปโดยไม่ได้ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงนอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นอีกประเทศที่กำลังเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับฐานรากของโครงสร้างทั้งหมดของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนชุมชนของเราและวิถีชีวิตของเรา

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นรัฐบาลวางแนวทางพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการผลิตจากกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าต่ำสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์และธุรกิจ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับยุคต่อไปเช่นกัน