เกษตรอินทรีย์ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

วางระบบ เกษตรอินทรีย์ ระบบการรับรอง Organic Thailand smart farmer ออร์แกนิค organic

การตรวจรับรอง Organic Thailand

แบ่งการรับรองออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การรับรองฟาร์ม การรับรองการคัดบรรจุและการรับรองการแปรรูป โดยผู้ประสงค์จะขอรับการรับรองเป็นได้ทั้งเกษตรกรรายบุคคลกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน/โครงการ หรือนิติบุคคลอื่นๆ ก็ได้

คุณสมบัติของเกษตรกร ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง สมัครใจและยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง ไม่เป็นผู้เพิกถอนการรับรองเว้นแต่พ้นการเพิกถอนแล้ว 1 ปี และก่อนการตรวจประเมินเพื่อขอรับการรับรอง ผู้ยื่นคำขอต้องมีการผลิตแบบอินทรีย์ตามมาตรฐานที่ประกาศกำหนด และต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนคุณสมบัติของนิติบุคคล ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายไทย และสมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด รวมทั้งไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนแล้ว 1 ปี

สำหรับกลุ่ม / วิสาหกิจชุมชน / โครงการ สมาชิกกลุ่มต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืชกลุ่มเกษตรกรต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือกรณีไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย สามารถขอรับการรับรองได้แต่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 คน และกลุ่มดังกล่าวอาจดำเนินการโดยนิติบุคคล หรือองค์กรอิสระก็ได้ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มต้องปลูกพืชชนิดเดียวกันที่ขอการรับรองอย่างน้อย 2 ราย รวมทั้งสมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด อีกทั้งไม่เป็นกลุ่มที่ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนมาแล้ว 1 ปี

ทั้งนี้ การขอรับรองในลักษณะของกลุ่มหรือนิติบุคคล จะต้องมีระบบการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นระบบควบคุมคุณภาพที่กลุ่มจัดทำขึ้น เพื่อประกันว่ากิจกรรมการผลิตของเกษตรกรสมาชิกและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอินทรีย์และเป็นกลไกควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามในการรับรอง โดยระบบการควบคุมภายในต้องประกอบด้วย การทำสัญญา ใบสมัคร คำรับรอง และหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกลุ่มการฝึกอบรมสมาชิกกลุ่ม โดยสมาชิกต้องได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ และได้รับคู่มือเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองของกรมวิชาการเกษตรและหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกลุ่ม

สำหรับการควบคุมเอกสารและการบันทึก ต้องมีการตรวจสอบและอนุมัติก่อนการใช้ถ้าล้าสมัยต้องนำออกหรือระบุไว้ชัดเจน ซึ่งต้องเก็บเอกสารไว้อย่างน้อย 1 รอบการผลิตและควรมีข้อมูลครอบคลุมรายชื่อสมาชิก เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ ที่ตั้งแปลง ขนาดพื้นที่การผลิตชนิดพืชที่ของรับการรับรอง แผนการผลิตประมาณการผลผลิต และรายการปัจจัยการผลิตที่กลุ่มใช้ ในขณะที่การจัดการกับข้อร้องเรียน ต้องกำหนดแนวทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับระบบการผลิตของสมาชิก การสืบสวนหาสาเหตุ การกำหนดแนวทางแก้ไขการติดตามผลการแก้ไข และการตอบกลับไปยังผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ เอกสารระบบควบคุมภายในของกลุ่ม ต้องกำหนดและระบุไว้ให้ชัดเจน เช่น คู่มือการผลิต คู่มือระบบควบคุมภายในแบบฟอร์มต่างๆ เป็นต้น และต้องมีการตรวจติดตามคุณภาพภายในของกลุ่มในรอบการผลิตเสมอ

รูปแบบการจัดองค์กรของกลุ่ม/นิติบุคคลที่ขอรับการรับรองต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ประธานกลุ่ม รองประธาน เหรัญญิก เลขานุการประชาสัมพันธ์ และสมาชิก โดยต้องมีผู้ประสานงานระบบควบคุมภายในคณะกรรมการรับรองผู้ตรวจสอบแปลงภายใน เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง

กระบวนการรับรองจะเกิดขึ้น เมื่อผู้ประสงค์ขอรับการรับรองยื่นคำขอ และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อกรมวิชาการเกษตรจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบเอกสารการคัดเลือกผู้ตรวจประเมินและวางแผนการตรวจประเมิน การเตรียมการตรวจประเมิน และดำเนินการตรวจประเมิน หากไม่มีข้อบกพร่องใดจะจัดทำรายงาน และแจ้งผลการตรวจประเมิน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรับรอง และจัดทำใบรับรองและขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ได้รับการรับรองจึงมอบใบรับรองให้กับผู้ผ่านการประเมินและเผยแพร่ผู้ได้รับการรับรองให้สาธารณะทราบต่อไป อย่างไรก็ตามหากมีการตรวจพบข้อบกพร่อง จะต้องแจ้งให้ผู้ขอรับการรับรองทราบและแก้ไขก่อนที่จะดำเนินการตรวจประเมินใหม่