เกษตรอินทรีย์ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

วางระบบ เกษตรอินทรีย์ สนใจปลูกพืชอินทรีย์จะทำอย่างไร smart farmer ออร์แกนิค organic

สนใจปลูกพืชอินทรีย์จะทำอย่างไร

มี 10 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การเลือกพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์

1.1 ประวัติการทำการเกษตรของพื้นที่ก่อนเลือกพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์ จะต้องทราบประวัติ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านการเกษตร เช่น เคยปลูกพืชอะไรการใช้ปุ๋ย สารเคมี และความสำเร็จของการใช้พื้นที่ เป็นต้น
เพื่อใช้ในการตัดสินในวางแผนการผลิต

1.2 ที่ตั้งของพื้นที่ควรเลือกพื้นที่ห่างจากถนนหลวงโรงงานเพื่อป้องกันมลพิษและไม่ควรอยู่ติดกับแปลงปลูกพืชที่มีการใช้สารเคมี

1.3 ความเหมาะสมของพื้นที่ต่อพืชที่จะปลูกผู้ที่จะผลิตพืชอินทรีย์ จะต้องทราบแล้วว่า จะปลูกพืชล้มลุกหรือพืชยืนต้น การปลูกพืชล้มลุกไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความลึกของหน้าดิน แต่ไม้ยืนต้นต้องการหน้าดินที่ลึก และต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอ

1.4 แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้กับพืชจะต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษเจือปน จะเป็นน้ำใต้ดิน สระ แม่น้ำ ลำคลอง หรือชลประทานก็ได้ควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อน

1.5 ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ พื้นที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ เช่นพื้นที่เปิดป่าใหม่ ความสำเร็จในการปลูกพืชอินทรีย์จะสูง ดังนั้นจึงควรเลือกพื้นที่ที่ดินมีความสมบูรณ์ สำหรับพื้นที่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ควรปลูกพืชบำรุงดิน ประกอบกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์

  1. การวางแผนจัดการ

การทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ แบ่งเป็น

2.1 การวางแผนป้องกันสารปนเปื้อนที่ปะปนมาทางดิน น้ำ และอากาศ โดยวางแผน อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน และมีการบันทึกวิธีปฏิบัติอย่างต่อเนื่องการป้องกันสารปนเปื้อนระดับฟาร์ม อาจทำการปลูกพืชเป็นแนวกันชนระหว่างแปลงให้ปลอดภัยจากสารพิษที่มาจากแหล่งของเสีย หรือระบบการกำจัดของเสีย ระบบระบายน้ำระบบการเก็บรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ และการขนส่ง เข้า-ออกฟาร์ม

2.2 การวางแผนการจัดการแปลงปลูกพืชและระบบการปลูกพืช อาจทำโดยการใช้ พันธุ์พืชต้านทานศัตรูพืช การเลือกฤดูการปลูก และระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมรวมทั้งการเลือก วัสดุภัณฑ์ เครื่องมือที่สอดคล้องกับหลักการเกษตรอินทรีย์ ในการปฏิบัติทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมแปลงจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

  1. การเลือกพันธุ์

3.1 ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพดินสภาพภูมิอากาศความต้านทานต่อศัตรูพืชและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

3.2 ห้ามใช้พันธุ์พืชที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรมและ/หรือผ่านการอาบรังสี

3.3 เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ควรมาจากระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์

  1. การจัดการและปรับปรุงบำรุงดิน

การจัดการดินในทุกขั้นตอน ต้องมุ่งเน้นการใช้สารอินทรีย์ และวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก โดยสิ่งเหล่านี้ต้องปราศจากการปนเปื้อนของวัสดุต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ สารที่ไม่แน่ใจว่าเป็นสารต้องห้ามหรือไม่ ให้ตรวจสอบในบัญชีรายชื่อสารที่อนุญาตให้ใช้ และไม่อนุญาตให้ใช้และข้อจำกัดของสารนั้นๆ เสียก่อน

ข้อปฏิบัติในการจัดการดิน

1) เลือกพื้นที่ปลูก ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เช่น พื้นที่เปิดป่าใหม่ หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ต้องมีการจัดการธาตุอาหารพืชและปรับปรุงบำรุงดิน มากกว่าพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง

2) ดินที่เป็นกรดจัดให้ใส่หินปูนบดปรับความเป็นกรดของดินก่อน (ถ้าต้องการเพิ่มธาตุแมกนีเซียมด้วยให้ใส่ปูนโดโลไมท์)

3) ควรปลูกพืชตระกูลถั่วเช่นโสนถั่วพุ่มถั่วมะแฮะฯลฯ และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด บำรุงดิน โดยเลือกชนิดของพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น โสนใช้ได้ดีในสภาพนา ถั่วพุ่มใช้ได้ดีในสภาพไร่ เป็นต้น

4) ปลูกพืชหมุนเวียน ใช้พืชตระกูลถั่วร่วมเป็นพืชหมุนเวียน

5) ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษซากพืช เพื่อเป็นแหล่งอาหารพืช และปรับปรุงโครงสร้างของดิน

6) กรณีที่ดินขาดโพแทสเซียม ให้ใช้มูลค้างคาว เกลือโพแทสเซียมธรรมชาติและขี้เถ้าถ่าน

7) กรณีดินขาดฟอสฟอรัส ให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต

8) ถ้าการใส่ปุ๋ยที่กำหนดไม่สามารถให้ธาตุอาหารได้พอเพียงกับความต้องการ
ของพืช อาจใช้ธาตุอาหารเสริมที่มีการพิสูจน์เป็นหลักฐานทางเอกสารไว้แล้วได้

รายการสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้

— กากตะกอนโสโครก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพืชผัก)
— สารเร่งการเจริญเติบโต สารพ่นใบ
— จุลินทรีย์ และผลิตผลที่มาจากจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม
— สารพิษต่างๆ ตามธรรมชาติ เช่น โลหะหนักต่างๆ
— ปุ๋ยเทศบาล หรือปุ๋ยหมักจากขยะในเมือง

รายการสารที่อนุญาตให้ใช้

— ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากวัสดุในไร่นา เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษซากพืช ฟางข้าว
ขี้เลื่อย เปลือกไม้ เศษไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ
— ปุ๋ยคอกจากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารจากสิ่งที่มีชีวิตที่ได้มาจาก
การตัดต่อ ดัดแปลงสารพันธุกรรม (GMOs) ไม่ใช้สารเร่งการเจริญเติบโต และไม่มี
การทรมานสัตว์
— ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืช และวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ในรูปสารอินทรีย์
— ดินพรุที่ไม่เติมสารสังเคราะห์
— ปุ๋ยชีวภาพ หรือจุลินทรีย์ที่พบตามธรรมชาติ
— ขุยอินทรีย์ สิ่งขับถ่ายจากไส้เดือนดิน และแมลง
— ดินอินทรีย์ ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
— ดินชั้นบน (หน้าดิน) ที่ปลอดการใช้สารเคมีมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
— ผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย และสาหร่ายทะเลที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
— ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากพืช และสัตว์
— อุจจาระ และปัสสาวะ ที่ได้รับการหมักแล้ว (ใช้ได้กับพืชที่ไม่ใช่อาหารมนุษย์)
— ของเหลวจากระบบน้ำโสโครก จากโรงงานที่ผ่านกระบวนการหมักโดย
ไม่เติมสารสังเคราะห์ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
— ของเหลือใช้จากกระบวนการในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น
โรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำปลา โดยกระบวนการเหล่านั้น จะต้อง
ไม่เติมสารสังเคราะห์ และต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
— สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช หรือสัตว์ซึ่งได้จากธรรมชาติ

สารอนินทรีย์ที่อนุญาตให้ใช้

  1. หินและแร่ธรรมชาติ

— หินบด (Stone Meal)
— หินฟอสเฟต (Phosphate Rock)
— หินปูนบด (ไม่เผา) (Ground Limestone)
— ยิปซั่ม (Gypsum)
— แคลเซี่ยมซิลิเคต (Calsium Silicate)
— แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulphate)
— แร่ดินเหนียว (Clay Mineral) เช่น สเมคไตท์ (Smectite) คาโอลิไนท์
(Kaolinite) คลอไรท์ (Chlorite) ฯลฯ
— แร่เฟลด์สปาร์ (Feldspar)
— แร่เพอร์ไลท์ (Perlite) ซีโอไลท์ (Zeolite) เบนโทไนท์ (Bentonite)
— หินโพแทส เกลือโพแทสเซียมที่มีคลอไรด์น้อยกว่า 60 %

  1. สารอินทรีย์อื่นๆ

— แคลเซียมจากสาหร่าย สาหร่ายทะเล (Algae and Sea Weeds)
— เปลือกหอย
— เถ้าถ่าน (Wood Ash)
— เปลือกไข่บด
— กระดูกป่น และเลือดแห้ง
— เกลือสินเธาว์ (Mineral Salt)
— โบแร็กซ์ (Borax)
— กำมะถัน
— ธาตุอาหารเสริม (โบรอน ทองแดง เหล็ก สังกะสี แมงกานีส และโมลิบดีนั่ม)
ต้องได้รับการรับรองเป็นทางการก่อน

  1. แผนการจัดการศัตรูพืช

5.1 ก่อนปลูก

1) กรณีใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก ควรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีความต้านทานโรค แมลงและวัชพืช ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากศัตรูพืช เช่น โรค แมลง และวัชพืช โดยใช้กรรมวิธีดังนี้
— แช่เมล็ดในน้ำอุ่น (50 – 55 องศาเซลเซียส) นาน 10 – 30 นาที แล้วแต่ชนิด ของเมล็ดพันธุ์เพื่อกำจัดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์
— คลุกเมล็ดด้วยจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ขึ้นอยู่กับชนิดเมล็ดพืชและเชื้อสาเหตุของโรค
— ใช้พันธุ์ต้านทานโรค แมลง และ/หรือวัชพืช

2) การเตรียมแปลงเพาะกล้า
— อบดินด้วยไอน้ำ
— คลุกดินด้วยเชื้อราปฏิปักษ์ เพื่อควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคในระยะกล้า

3) การเตรียมแปลงปลูก
— ไถพรวนและตากดิน 1 – 2 สัปดาห์ ให้เมล็ดวัชพืชงอกแล้วไถกลบอีกครั้งหนึ่ง
— ใช้พลาสติกใสที่ไม่ย่อยสลายคลุมแปลงปลูกเพื่อกำจัดศัตรูพืชในดินโดยใช้แสงแดด
— ใช้ปูนโดโลไมท์หรือปูนขาวที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด เป็นด่างของดินทำให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
— ใช้น้ำท่วมขังท่วมแปลงเพื่อควบคุมโรคและแมลงที่อยู่อาศัยในดิน
— ตากดินให้แห้งเพื่อกำจัดแมลงในดิน
— ใส่เชื้อราปฏิปักษ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา ลงในดินสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อราบางชนิด

5.2 ระยะที่พืชกำลังเจริญเติบโต
1) การควบคุมโรค เมื่อมีการระบาดของโรคให้ปฏิบัติดังนี้
— โรยเชื้อราปฏิปักษ์รอบโคนต้น
— เก็บชิ้นส่วนของพืชที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกและนำไปเผาทำลาย
— ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส พ่น หรือทาแผลที่ต้นพืชสารที่อนุญาตให้ใช้ควบคุมโรค ได้แก่
— กำมะถัน
— บอร์โดมิกเจอร์
— พืชสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพร
— คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์
— คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์

2) การควบคุมแมลง
— สำรวจแมลงและศัตรูพืชอื่นๆในแปลงปลูก
— หากพบแมลงศัตรูพืช ให้ปฏิบัติ ดังนี้กรณีแมลงศัตรูพืชมีจำนวนน้อย ให้ใช้วิธีการควบคุมทางชีวภาพได้แก่
— พืช หรือสารสกัดจากพืชสมุนไพร เช่น ดาวเรือง ว่านน้ำ พริกสาบเสือ หางไหลแดง สะเดา เป็นต้น
— ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น เชื้อไวรัสเอ็นพีวี ใช้เชื้อแบคทีเรีย บีที ใช้ไส้เดือนฝอย ใช้ศัตรูธรรมชาติใช้เชื้อราเมตาไรเซียม
— ใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน
— ใช้น้ำสบู่หรือน้ำ
— ใช้สารทำหมันแมลง
— ใช้กับดักกาวเหนียวกรณีแมลงศัตรูพืชระบาด จำนวนมาก
— ใช้กับดักกาวเหนียว กับดักแสงไฟ เพื่อลดปริมาณแมลง
— ใช้ไว้ท์ออยส์ หรือ มินเนอรัลออยล์ ที่ได้จากธรรมชาติ

3) การควบคุมวัชพืช
— ควรควบคุมวัชพืชก่อนออกดอก หรือติดเมล็ดเพื่อลดปริมาณวัชพืชที่สะสมในดินฤดูต่อไป
— ใช้วิธีการทางกายภาพ หรือวิธีกล ใช้การอบ ตาก บด ถอน ตัด ฯลฯ
— ปลูกพืชตระกุลถั่วคลุมดิน
— คลุมดินด้วยพลาสติกทึบแสงที่ไม่ย่อยสลาย
— ใช้สารสกัดจากพืช
— ใช้ชีววิธี เช่น แมลง สัตว์ หรือจุลินทรีย์

หมายเหตุ :

  1. จุลชีพที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืชทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ต้องไม่ผ่านการตัดต่อสารพันธุกรรม
  2. สารอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว หากจะนำมาใช้ในการผลิตพืชอินทรีย์
    ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจสอบและออกใบรับรองก่อน
  3. การจัดการเก็บรักษาและขนส่ง

ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ จะต้องได้รับการเก็บรักษาให้คงสภาพคุณภาพที่ดี ในระหว่างเวลาการเตรียมการและขนส่ง ตามข้อปฏิบัติดังนี้

6.1 ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ต้องได้รับการคัดแยกจากผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ ตลอดกระบวนการจัดการเพื่อการขนส่ง ตั้งแต่การย้ายภายในแหล่งผลิต จนถึงการขนส่งเพื่อจำหน่าย โดยติดเครื่องหมายแสดงชัดเจน
6.2 ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ต้องได้รับการป้องกันการสัมผัส และปนเปื้อน จากวัสดุ และสารสังเคราะห์ต้องห้ามใดๆ ตามมาตรฐานนี้ ตลอดระยะเวลาของขบวนการเก็บรักษา และขนส่ง
6.3 พื้นที่ของการเก็บรักษา และขนส่ง จะต้องได้รับการทำความสะอาดตามระบบ และใช้วัสดุ หรือสารที่ให้ใช้ตามมาตรฐานนี้

  1. แผนการเก็บเกี่ยวพืชป่าและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมการเก็บรวบรวม หรือเก็บเกี่ยวพืชป่า เพื่อขอหนังสือรับรองการเป็นผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์อินทรีย์ จะกระทำได้ต่อเมื่อแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้รับอนุมัติโดยคณะกรรมการบริหาร การวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

แผนปฏิบัติการ มีองค์ประกอบดังนี้
1) แผนที่และประวัติการใช้พื้นที่ (ต้องไม่มีการใช้สารต้องห้ามอย่างน้อย 3 ปี ย้อนหลัง)
2) ชนิดพืชที่จะทำการรวบรวม หรือเก็บเกี่ยว
3) ขอบเขตพื้นที่ที่จะดำเนินการ
4) วิธีการเก็บรวบรวม หรือเก็บเกี่ยว (ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่กระทบกระเทือนต่อความหลากหลายทางชีวภาพ)

  1. กระบวนการออกใบรับรอง

เป็นการรับรองคุณภาพผลิตผล/ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เพื่อแสดงว่าสินค้านั้นๆ ได้ผ่าน การตรวจสอบ รับรองตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์แล้ว ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานคือ

1) ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยมีรายละเอียด ในใบคำร้อง ดังนี้

— ชื่อ และที่อยู่ของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ
— สถานที่ตั้งของพื้นที่ประกอบการ
— รายละเอียดของผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ และขบวนการผลิต
— ลงชื่อผู้ยื่นคำร้อง

2) หน่วยงานตรวจสอบ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการผลิต บันทึกข้อมูลการผลิต และหรือสุ่มตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์ตามมาตรฐานที่ทิ้งไว้
3) หน่วยงานรับผิดชอบจะออกใบรับรองผลการวิเคราะห์ ว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตตามวิธีการของเกษตรอินทรีย์

  1. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

    1) สารที่ใช้ในการดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยวต้องเป็นสารจากธรรมชาติ ยกเว้นสารเคมี สังเคราะห์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามมาตรฐานนี้
    2) มีแผนการบริหารจัดการ หรือบันทึกข้อมูลโรงเก็บ (Ware House) ระบุการปฏิบัติการควบคุมให้ถูกสุขลักษณะ ดังนี้
    — ลักษณะของโรงเก็บสะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก
    — มีการป้องกันนก หนู แมลง ปนเปื้อน
    — มีการจัดระเบียบภายในเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน
    — มีการจัดระเบียบและชี้บ่งผลผลิตแต่ละชนิด ห้ามวางผลิตผลบนพื้น
    — มีอุปกรณ์ที่จำเป็น/เหมาะสมในการเก็บรักษาผลผลิตแต่ละชนิด
    — เลือกใช้เครื่องมือ/วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
  2. การแปรรูป

การแปรรูปผลิตผลอินทรีย์ เป็นการจัดการตามหลักการและวิธีการปฏิบัติการที่ดีในการผลิต ให้เป็นไปตามข้อกำหนด และมาตรฐานของขบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ดังนี้

1) วัตถุดิบ
— ผลิตผลต้องมาจากขบวนการผลิตโดยเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองแล้ว
— มีการวางแผนการจัดการและการศึกษาข้อมูล ข้อกำหนดมาตรฐาน สารที่ยอมให้ใช้/ ห้ามใช้สิ่งปนเปื้อนในวัตถุดิบ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ หรือมาตรฐานที่กำหนด

2) ขบวนการผลิต สารเจือปน สารที่ยอมให้ใช้ห้ามใช้ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์

3) การบรรจุหีบห่อ
วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่ปลอดภัยและเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของแต่ละประเทศและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

รายชื่อวัสดุที่ใช้ในการแปรรูปสารเสริมแต่งอาหาร และวัสดุเสริมแต่ง

กรดกำมะถัน แอสคอร์บิก โซเดียมแอสคอร์เบท และโพแทสเซียม
แอสคอร์เบท กรดทาร์ทาริคและเกลือของกรดนี้ กรดแลคติก กรดมาลิก
กรดซิตริกและเกลือของกรดนี้ กรดอะซิติก กรดแทนนิก ขี้ผึ้ง (Wax) ไขคาร์นอบา
คาร์บอนไดออกไซด์ เคซีอีน (Casein) เครื่องเทศ (Spices) แคลเซียมคลอไรด์
แคลเซียมไฮดรอกไซด์ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมซัลเฟต เกลือทะเล
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เจลลาติน (Gellatin) โซเดียมคาร์บอเนต โซเดียมไฮดรอกไซด์
ดินเบา ดินขาว ดินเบนโทไนท์ ถ่านกัมมันต์ ไนโตรเจน น้ำผึ้ง (Honey)
เปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แป้ง (Starch) จากข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มันฝรั่ง
ฯลฯ โพแทสเซียมคลอไรด์ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ผงฟู ซึ่งปลอดจาก
สารอะลูมินั่ม (Aluminum- Free Leavening Agents) แมกนีเซียมคลอไรด์
แมกนีเซียมคาร์บอเนต ยางไม้ (Gum) วุ้นจากสาหร่ายทะเล เอนไซม์ซึ่งใช้ช่วยในการแปรรูป สารให้สีจากธรรมชาติ สมุนไพร (Herbs)สารทำข้นคาร์แรจีแนน(Carrageenanas) ส่าหมักจุลินทรีย์ (Fermented Organisms) แอมโมเนียม
คาร์บอเนต อาร์กอน ออกซิเจน โอโซน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

สารที่ใช้ในการทำความสะอาด

กรดฟอสฟอริก คอสติก โพแทส จาเวลวอเตอร์ โซเดียมไบคาร์บอเนต
น้ำส้มหมักจากพืช ผลไม้ น้ำด่าง ปูนขาว ผงซักฟอกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
สารละลายด่างทับทิม สารฟอกขาวถึง 10 % ไอโอดีน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
หมายเหตุ :
ข้อกำหนดการใช้วัสดุดังกล่าวข้างต้นให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่าง
ประเทศ เช่น Codex Alimentarius