Thailand Commodities ครัวไทยสู่ครัวโลก

ยุคของการเปลี่ยนความคิดและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต

ฝรั่งเศสคือประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเพื่อส่งออกมากที่สุดในโลก และยังให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมด้วยการกำหนดลิขสิทธิ์ทางภูมิศาสตร์ขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพและเอกลักษณ์ของวัตถุดิบตั้งแต่ดินน้ำ อากาศไปจนถึงการแปรรูปอาหาร ทำให้เกษตรกรของประเทศสามารถมีรายได้ที่มั่นคง และมีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจได้อีกด้วย ถือเป็นความสำเร็จที่ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานับร้อยๆ ปี

ส่วนในประเทศไทยของเราหลังจากเรียนรู้และผ่านการลองผิดลองถูกกับการทำการเกษตรแบบมหภาคมาแล้วปัจจุบันเกษตรกรบางส่วนเริ่มหันมาสนใจการทำการเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงปูทาง
เรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการทำการเกษตรแบบพอเพียงเพื่อต่อยอดไปสู่การเกษตรแบบสหกรณ์ค่อยๆ พัฒนาให้เกษตรกรเป็นผู้คิดรูปแบบของการทำการเกษตรขึ้นเองและต่อรองกับโลกได้ แม้ปัจจุบันยังทำได้แค่ในการเกษตรหน่วยเล็กๆแต่ก็มีแนวโน้มว่าหากเกษตรกรได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรไทยจะมีความรู้ความสามารถในการจัดการตนเองได้ดีขึ้น

ส่วนการเกษตรในระดับมหภาคที่ต้องก้าวต่อไปเราเริ่มเห็นการขยับตัวที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรในหลายๆ ด้านที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้สามารถต้านทานสภาพอากาศที่แปรปรวนได้มากขึ้น เริ่มมีการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัยสำหรับการผลิตทางการเกษตร เป็นต้นว่า การเตือนภัยการระบาดของแมลงศัตรูพืช การพัฒนาความรู้ในด้านชีววิทยาเพื่อลดการพึ่งพาสารเคมีให้น้อยลงในระยะยาวรวมถึงมีความพยายามในการคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมพืชที่มีคุณภาพจัดเป็นหน่วยเก็บพันธุกรรม และสนับสนุนชุมชนให้รวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มีการจัดตั้งระบบคัดเลือกลักษณะที่ปรากฏอย่างรวดเร็ว (High Throughput Phenotyping Screening) เพื่อศึกษาสรีรวิทยาของพืช และให้เกิดความรู้ไปสู่การปรับปรุงพันธุ์และงานทางด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมากขึ้นเพื่อเป็นคลังสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว และสร้างเครือข่ายของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

ฝ่ายผู้บริโภคเองก็กำลังตื่นตัวเกี่ยวกับการหวนกลับสู่ธรรมชาติและมองหาสิ่งที่ปลอดภัยให้ตัวเองมากที่สุดแน่นอนว่าความต้องการที่จะหวนกลับไปหาธรรมชาติลักษณะนี้ก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นในการช่วยประหยัดทรัพยากร เพื่อความยั่งยืน และเพื่อจะไม่ทิ้งภาระให้คนรุ่นหลัง

ทั้งหมดล้วนเป็นภาคใหม่ของการเกษตรไทยที่น่าติดตามแบบไม่ควรกะพริบตา

โลกที่หิวโหย 300ล้านคนเป็นตัวเลขของเด็กๆ ทั่วโลกที่ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร(อ้างอิงจากตัวเลขขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO)

The Most Innovative Country in Food Techสหรัฐอเมริกาอินเดียจีนเยอรมนีและสหราชอาณาจักรคือ5ประเทศที่มีการลงทุนเรื่องนวัตกรรมอาหารสูงที่สุดในโลก

Tech in Food IndustryBig Data, การใช้ส่วนประกอบใหม่ๆ ในการปรุงอาหารและเทคโนโลยีการผลิตอาหารเพื่อทดแทนสิ่งเดิมเป็น 3 เรื่องที่ผู้ผลิตให้ความสนใจมากในอุตสาหกรรมการเกษตรแบบมหภาค

From Lab to Table Biotechnologies Applied to Food, Farming Technology และ Artificial Foods เป็นนวัตกรรมด้านอาหารที่เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาเรื่องอาหารไม่พอเลี้ยงคนได้ เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่าในค.ศ. 2100 โลกอาจมีประชากรอยู่ราว 10,000 ล้านคน