อาชีพ ทำกิน รายได้,  อาชีพ พอเพียง,  เกษตร เศรษฐกิจ พอเพียง การปลูก

อาชีพ เกษตร พอเพียง การปลูก การทำก้อนเชื้อเห็ดและเปิดดอก

ปัจจุบันการเพาะเห็ดเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะได้ผลผลิตเร็วและมีตลาดรองรับ การเพาะเห็ดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงนัก แต่สร้างรายได้ให้เป็นที่น่พอใจสามารถทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพรองได้ การซื้อเชื้อเห็ดคุณภาพดี ไม่มีจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อน ให้ผลผลิตสูง และได้กำไรดีนั้นเป็นหน้าที่ของผู้เพาะเห็ดที่ต้องจำเองว่าบริษัทหรือห้างร้านใดที่ผลิตเห็ดคุณภาพดี แต่บางครั้งเชื้อเห็ดจากร้านเดียวกันคุณภาพกลับไม่สม่ำเสมอก็มี ปัญหาเช่นนี้ทำให้ผู้เพาะดอกเห็ดขายหันมาสนใจที่จะผลิตเชื้อเห็ดเอง แม้จะลงทุนสูงกว่าการซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก หากแต่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการยึดการเพาะเห็ดเป็นอาชีพ ซึ่งต้องทำการสำรวจตลาดและค้นคว้าข้อมูลในการผลิตมาให้ดีเสียก่อนเห็ดมีหลายชนิดอาทิ เห็ดฟาง เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เป็นต้น

ปัจจัยจำเป็น

1) วัสดุเพาะ โดยทั่วไปจะใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้อ่อนฟางข้าว ชานอ้อย ฯลฯ
2) ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 6.75×12.5 นิ้ว หรือ ขนาด 8×12 นิ้ว
3) คอขวดพลาสติกเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 นิ้ว
4) สำลี
5) ยางรัด
6) หม้อนึ่งเชื้อ
7) โรงเรือนบ่มเส้นใย
8) โรงเรือนเปิดดอก

สูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ด

ขี้เลื่อยยางพาราแห้ง (ไม่ต้องหมัก)
รำละเอียด
ปูนขาว
ยิปซัม
ดีเกลือ
100
5
1
2
0.2
กิโลกรัม
กิโลกรัม
กิโลกรัม
กิโลกรัม
กิโลกรัม
(ปรับความชื้นในวัสดุเพาะประมาณ 60-65%)

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1) นำส่วนผสมข้างต้นผสมให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่องผสม ปรับความชื้นประมาณ 60-65%โดยการเติมน้ำลงไปพอประมาณ
2) ใช้มือกำขี้เลื่อยขึ้นมาบีบให้แน่น แล้วสังเกตว่าถ้ามีน้ำซึมออกมาตามร่องนิ้วมือแสดงว่าเปียกไป ให้เติมขี้เลื่อยแห้ง แต่ถ้าไม่มีน้ำซึมให้แบมือออก ขี้เลื่อยจะรวมกันเป็นก้อนแล้วแตกออก 2-3 ส่วนแสดงว่าใช้ได้ (มีความชื้นประมาณ 60-65%) แต่ถ้าแบมือแล้วขี้เลื่อยไม่รวมตัวกันเป็นก้อนแสดงว่าแห้งไป ให้เติมน้ำลงไปอีก
3) เมื่อผสมคลุกเคล้าส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ให้บรรจุขี้เลื่อยใส่ถุงพลาสติกทนความร้อนน้ำหนักบรรจุ 8–10 ขีด หรือ 2 ใน 3 ของถุง แล้วกดให้แน่นพอประมาณ ใส่คอขวด รัดด้วยหนังยาง จุกสำลี
4) นำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่ 90-100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
5) นำถุงพลาสติกออกพักให้เย็นในที่สะอาด เปิดจุกสำลี ต่อเชื้อที่ต้องการลงไปตรงคอขวด
6) นำถุงเชื้อเห็ดไปบ่มไว้ที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวกพ่นยาฆ่าแมลงทุกวัน จนกว่าเส้นใยจะเต็มถุง(ระยะเวลาต่างกันตามชนิดของเห็ด)
7) เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุงแล้ว คัดเอาเฉพาะถุงที่ไม่มีการปนเปื้อนมาเปิดในโรงเรือนเปิดดอกเพื่อใหhเกิดดอกเห็ดต่อไป ภายในโรงเรือนต้องสะอาด มีอากาศถ่ายเทดี มีแสงสว่างและเก็บความชื้นได้ดี
พอควร (ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนประมาณ 70% ขึ้นไป) รดน้ำทุกวันเพื่อให้เห็ดออกดอก

ลักษณะเชื้อเห็ดที่ดี มีวิธีสังเกตดังนี้

1. เห็ดตระกูลนางรม (เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดยานางิ) เส้นใยเดินเต็มถุงมีสีขาว หากมีสีเหลือง แสดงว่าเส้นใยเห็ดเริ่มแก่แล้ว
2. เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว เห็ดลม เส้นใยเดินเต็มถุง มีสปอร์เห็ดสีดำตกอยู่
3. ถุงบรรจุต้องไม่มีรอยแตกและรั่ว
4. ไม่มีเชื้อราเขียวหรือราอื่นเจริญบนก้อนเห็ด

ปัญหาที่พบในการทำเชื้อเห็ด

1. เชื้อเห็ดไม่เจริญ อาจมีสาเหตุจากหัวเชื้อไม่บริสุทธิ์ มีก๊าซแอมโมเนียเหลืออยู่ ความชื้นในขี้เลื่อยสูงเกินไป อากาศในห้องบ่มเย็นเกินไป เป็นต้น
2. เชื้อเห็ดเสียเนื่องจากมีเชื้ออื่นปนเปื้อน อาจมีสาเหตุจากอุณหภูมิของหม้อนึ่งต่ำเกินไป หมักปุ๋ยไม่ได้ที่ ถุงพลาสติกรั่ว มีรู จุกสำลีเปียก หรือใช้สำลีเก่า อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคได้ หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์
เป็นต้น
3. เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุดหรือเดินเพียงบางๆ เนื่องจากขี้เลื่อยหมักไม่ได้ที่ ทำให้มีกลิ่นแอมโมเนียเหลืออยู่ มีสารที่เป็นพิษเจือติดอยู่ เช่น น้ำยางจากขี้เลื่อย น้ำมัน ผงซักฟอก อุณหภูมิในห้องบ่ม
ต่ำเกินไป ปุ๋ยเปียกเกินไป หรือความชื้นในปุ๋ยไม่สม่ำเสมอ
4. เส้นใยเจริญบางมาก สาเหตุจากอาหารในปุ๋ยไม่เพียงพอ มีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อน ขี้เลื่อยที่ใช้มีพิษต่อเห็ด
5. เชื้อเห็ดเดินเต็ม แต่ไม่สร้างดอก อาจเนื่องจากเชื้อเห็ดเป็นหมัน
6. ออกดอกช้า ผลผลิตต่ำ สาเหตุจาก เชื้อเห็ดเสื่อม อาหารและความชื้นไม่เพียงพอ

ผลผลิต

โดยเฉลี่ยประมาณ 300-500 กรัมต่อถุง (ตลอดอายุก้อน)

ต้นทุน และผลตอบแทน

ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 21,000 บาท โรงเรือนขนาด 4×6 เมตร ก้อนเชื้อ 1,500 ก้อน
ผลตอบแทนสุทธิ ครั้งแรก 8,500 บาท (คำนวณจากราคาขายเฉลี่ย 25 บาทต่อกิโลกรัม)
ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป 6,500 บาท ต่อรุ่น

ตลาด

1) เห็ดฟาง ประเทศไทยสามารถผลิตได้กว่า 70% ของเห็ดทั่วประเทศ แต่บริโภคภายในประเทศเกือบหมด มีเหลือส่งออกตลาดโลกน้อยมาก จึงมีการพยายามเพิ่มผลผลิตด้วยวิธีต่างๆ เพื่อผลิตเป็นสินค้าออก
2) เห็ดนางรมฮังการี และนางฟ้าภูฏาน เป็นเห็ดที่ออกดอกได้ทั้งปี คนนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย
3) เห็ดหอม เหมาะสำหรับบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นและความชื้นสูง มีราคาสูงในท้องตลาดสามารถรับประทานได้ทั้งแบบสด และแปรรูปโดยการทำแห้ง
4) เห็ดแชมปิญอง ชอบอากาศหนาวเย็น ต้องการอุณหภูมิประมาณ 12–20 องศาเซลเซียสมีราคาสูงในท้องตลาด เป็นที่นิยมอย่างมากในแถบประเทศยุโรป
5) เห็ดหัวลิง ชอบอากาศเย็นในการออกดอก มีสรรพคุณสามารถยับยั้งโรคมะเร็งต่างๆ ได้
6) เห็ดหูหนู เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในท้องตลาด เป็นยาเย็นบำรุงสุขภาพ
7) เห็ดยานางิ มีรสชาติคล้ายเห็ดโคนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
8) เห็ดออรินจิ ชอบอากาศหนาวเย็น เป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

แหล่งข้อมูล :
กลุ่มส่งเสริมการผลิตผัก ส่วนส่งเสริมการผลิตผัก ไม้ดอกไม้ประดับและพืชสมุนไพร สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตรผลผลิต แล้วแต่ชนิดของเห็ด