smart farm เกษตรอัจฉริยะ

เกษตร smart farm thailand ผลไม้ ชมพู่ การปลูก การดูแล รักษา

1.การเตรียมดิน

แบบยกร่อง ยกร่องกว้างประมาณ 3 เมตร ร่องน้ำ กว้าง 1 – 1.50 เมตร มีแนวชายร่องข้างละ 0.50 เซนติเมตร ควรตากดินไว้ 1 เดือน แล้วจึงพลิกหน้าดินซึ่งเป็นดินล่างลงไปอยู่ด้านล่างและดินบน ซึ่งถูกทับอยู่กลับมาอยู่ด้านบนตามเดิม ช่วงพลิกดินสามารถทำการปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวและใส่ปุ๋ยคอกลงไปในดินได้เลย ระยะปลูกห่างกันต้นละ 4 เมตรแบบไม่ยกร่อง ควรไถพรวนพร้อมทำการปรับสภาพดินและใส่ปุ๋ยคอก ระยะปลูก4 x 4 เมตร หรือ 6 x 6 เมตร แล้วแต่สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ควรปลูกระยะ 6 x 6 เมตร การเตรียมพันธุ์
ใช้ต้นพันธุ์ชมพู่ที่ได้จาการตอนกิ่ง หรือปักชำ สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี พันธุ์ที่นิยมได้แก่ ทับทิมจันทร์ เพชรสุวรรณ เพชรสายรุ้ง เพชรสามพราน เพชรชมพูพล เป็นต้น

2.การปลูก

2.1 ใช้ต้นพันธุ์ชมพู่ที่ได้จากการตอนกิ่ง หรือปักชำ
2.2 ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
2.3 ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
2.4 ผสมดินปุ๋ยคอก จำนวน 5 กิโลกรัม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต จำนวน 500 กรัม เข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
2.5 ยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุมโดยระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
2.6 ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
2.7 ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก
2.8 กลบดินที่เหลือลงในหลุม
2.9 กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
2.10 ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมโยก
2.11 หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
2.12 รดน้ำให้ชุ่ม
2.13 ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดดด้วยทางมะพร้าวหรือตาข่ายพรางแสง

3.การดูแลรักษา

3.1 การใส่ปุ๋ย ปริมาณการใช้ปุ๋ย ครั้งละประมาณ 1 – 2 กิโลกรัมต่อต้น สำหรับต้นชมพู่อายุ 8 ปี และเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามอายุและทรงพุ่ม

– บำรุงต้น ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15
– สร้างตาดอก ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24
– บำรุงและขยายขนาดผล ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
– ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21

3.2 การให้น้ำ

– ระยะเริ่มปลูกควรให้น้ำวันละครั้ง
– ระยะก่อนติดผล ควรให้น้ำ 5 – 7 วันต่อครั้ง โดยให้แต่ละครั้งจนดินมีความชุ่มชื้นเต็มที่
– ระยะติดผลควรให้น้ำ 2 – 3 วันต่อครั้ง ถ้าดินเก็บความชื้นไม่ดีควรให้ทุกวันหรือวันเว้นวันควรให้น้ำเต็มแอ่งรอบต้น และควรหยุดให้น้ำก่อนเก็บผลประมาณ 7 – 10 วัน เพื่อให้ชมพู่มีความหวานขึ้น

3.3 การปฏิบัติงานอื่นๆ

– การตัดแต่งกิ่งจะนิยมทำการตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร เพื่อง่ายต่อการเก็บการจัดทรงพุ่ม การห่อผล และการตัดแต่งกิ่งหลังจากการเก็บผลผลิตแล้ว
– การห่อผลเมื่อดอกบานแล้ว 5 – 7 วัน ให้ทำการตัดแต่งผลให้เหลือ 3 – 5 ผลต่อช่อและทำการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ก่อนห่อผลประมาณ 2 วัน ใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาด6 x 11 นิ้ว หรือ 6 x 14 นิ้ว เจาะรูขนาดเล็กข้างถุงประมาณ 8 รู หลังจากห่อแล้ว 25 – 30 วันสามารถเลือกเก็บผลผลิตได้ นอกจากจะป้องกันแมลงวันทองแล้ว ยังช่วยให้ผลมีสีสวยด้วย

4.การป้องกันกำาจัดศัตรูพืช

4.1 ระยะติดผลให้ป้องกันโรคแอนแทรคโนสหรือผลเน่า
4.2 แมลงวันทอง ป้องกันโดยการห่อผล
4.3 หนอนแดงจะเจาะกินผลในช่วงดอกตูม
4.4 เพลี้ยไฟกัดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก

5.การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

5.1 การเก็บเกี่ยว เริ่มเก็บเกี่ยวได้หลังจากดอกบานแล้ว 30 – 35 วัน หรือ 25 – 30 วันหลังห่อผล ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า โดยสังเกตลักษณะผิว โดยสีผิวจะเปลี่ยน และมีผลขนาดใหญ่ขึ้นควรใช้กรรไกรตัดบริเวณขั้วในที่มือเอื้อมไม่ถึง หรือใช้ตะกร้อผ้าทำเป็นถุงรองรับผล และที่สำคัญคืออย่าให้ผลผลิตซ้ำหรือเสียหาย
5.2 การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว นำมาไว้ในโรงเรือน พร้อมทั้งทำความสะอาด และคัดขนาดผลโดยเลือกผลที่เน่าเสีย หรือไม่มีคุณภาพ จากนั้นนำไปบรรจุลงในเข่งหรือตะกร้าที่บุพื้นด้วยใบตองเพื่อป้องกันผลซ้ำ
5.3 การเก็บรักษา
– ถ้าเก็บรักษาในอุณหภูมิ 15 – 17 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ประมาณ 10 -15 วัน
– กรณีส่งออกจะเก็บอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เก็บได้ประมาณ 30 วัน