เกษตรอินทรีย์ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

วางระบบ เกษตรอินทรีย์ ขั้นตอนและวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ smart farmer ออร์แกนิค organic

ขั้นตอนและวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นต้องมีการจัดการในส่วนของผัก และส่วนของสารละลายธาตุอาหาร

การจัดการพืช
ความสำเร็จของการผลิตอยู่ที่ความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของต้นกล้าเพราะจะทำให้ผักสามารถเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็ว

เมล็ดพันธุ์ผัก
การเพาะกล้าในถ้วยเพาะ
การเพาะกล้าในแผ่นฟองน้ำ
การเพาะกล้าในวัสดุปลูก

วิธีการเพาะกล้า

  1. การเพาะกล้าในถ้วยเพาะแบบสำเร็จรูปวัสดุที่ใช้เพาะในบ้านเราส่วนใหญ่นิยมใช้ เพอร์ไลท์ เวอร์มิคูไลท์หรืออาจใช้เพอร์ไลท์ผสมกับเวอร์มิคูไลท์ (อัตรา 1 : 4) หรือกรวด ซึ่งนิยมใช้ปลูกในระบบ NFT ดังนี้
    1.1 ใส่วัสดุเพาะลงในถ้วยเพาะสำเร็จรูปต่ำกว่าขอบบนของถ้วยประมาณ 1 เซนติเมตร
    1.2 ใส่เมล็ดลงในวัสดุเพาะที่อยู่ในถ้วยเพาะ ถ้วยละ 1 เมล็ด โดยให้เมล็ดลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร
    1.3 นำถ้วยเพาะเมล็ดไปวางในกระบะเพาะ ใส่น้ำสูงประมาณ 2 เซนติเมตร วางในที่มีแสงแดดรำไร มีการระบายอากาศดี มีวัสดุกันฝนและแรงลม
    1.4 เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้า ควรเริ่มให้สารละลายธาตุอาหารพืชแบบเจือจางผ่านรากผักในถาดเพาะก่อน เพื่อช่วยให้รากแข็งแรง และควรทำการเปลี่ยนสารอาหารสัปดาห์ละครั้ง ควรให้กล้าได้รับแสงแดดรำไร ไม่ร้อนจัด
    1.5 เมื่อกล้าแข็งแรง หรือมีอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ ย้ายกล้าไปยังแปลงปลูก
    1.6 สามารถเก็บผลผลิตได้เมื่อพืชมีอายุ 35-45 วัน (5-6 สัปดาห์) หลังเพาะเมล็ด
  2. การเพาะกล้าในแผ่นฟองน้ำ
    การเพาะเมล็ดลงในแผ่นฟองน้ำส่วนมากนิยมปลูกในรูปของแผ่นโฟม โดย
    2.1 เจาะรูแผ่นโฟมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร เพื่อใส่ต้นกล้า แต่ละรูห่างกันตามแต่ชนิดของพืชที่ปลูก โดยทั่วไปใช้ระยะห่าง 15-25 เซนติเมตร
    2.2 เพาะกล้าในแผ่นฟองน้ำโดยใช้มีดกรีดแผ่นฟองน้ำให้เป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ารูของแผ่นโฟมที่เจาะรูไว้ เพื่อให้ฟองน้ำที่มีต้นกล้าสามารถอยู่ในรูของแผ่นโฟมได้หลังจากย้ายปลูก
    2.3 ใช้มีดกรีดตรงกลางของฟองน้ำในข้อ 2.2 เป็นรูปกากบาทลึกประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อไว้สำหรับหยอดเมล็ด
    2.4 หลังหยอดเมล็ดแล้วให้น้ำโดยการสเปรย์ให้ชุ่มทุกเช้า เย็น
    2.5 วางฟองน้ำในถาดเพาะที่มีน้ำขังเล็กน้อย
    2.6 เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกควรเริ่มให้สารละลายธาตุอาหารพืชแบบเจือจางผ่านรากผักในถาดเพาะก่อน เพื่อช่วยให้รากแข็งแรง และควรทำการเปลี่ยนสารละลายธาตุอาหารพืชสัปดาห์ละครั้ง ควรให้กล้าได้รับแสงแดดรำไร ไม่ร้อนจัด
    2.7 เมื่อกล้าแข็งแรงหรือมีอายุ 2-3 สัปดาห์ ย้ายกล้าลงแปลงปลูก(ในการเพาะกล้าด้วยฟองน้ำจะไม่มีการย้ายกล้าไปยังแปลงอนุบาล)
  3. การเพาะกล้าในวัสดุปลูก

การเพาะกล้าในวัสดุปลูกนั้นสามารถใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น หรือนำมาผสมกันเป็นวัสดุเพื่อใช้ในการเพาะกล้า แต่ควรมีการทดสอบความเป็นพิษของวัสดุปลูกเสียก่อน โดยเพาะเมล็ดจำนวนหนึ่งลงในแต่ละวัสดุปลูกที่จะใช้ให้สารละลายธาตุอาหารและน้ำอย่างเพียงพอต่อเนื่องกัน 2-3 สัปดาห์ ถ้าพืชไม่มีอาการผิดปกติ เช่น รากกุด รากเน่า หรือ ใบเหลืองซีด แสดงว่าวัสดุปลูกนั้นสามารถนำมาใช้ได้ วัสดุปลูกที่นำมาใช้มีทั้งที่ได้มาจากต่างประเทศและในประเทศ เช่นเวอร์มิคูไลท์ หินฟอสเฟต เพอร์ไลท์ ขุยมะพร้าว แกลบ ขี้เถ้าแกลบ หินกรวด ทรายเป็นต้น ซึ่งมีวิธีการปลูก ดังนี้
3.1 เพาะเมล็ดลงในภาชนะที่บรรจุวัสดุปลูกไว้แล้ว
3.2 รดน้ำจนกระทั่งเมล็ดงอก ได้ต้นกล้าที่มีใบจริง 2-3 ใบ
3.3 ย้ายกล้าลงในกระถางหรือ ย้ายลงแปลงที่เตรียมไว้
3.4 รดน้ำด้วยสารละลายธาตุอาหารพืชทุกเช้า เย็น