อาชีพ ทำกิน รายได้,  อาชีพ พอเพียง,  เกษตร เศรษฐกิจ พอเพียง การปลูก

อาชีพ เกษตร พอเพียง การปลูก การผลิตมะม่วง เพื่อการส่งออก

มะม่วง จัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน เพราะสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ เกษตรกรจึงสามารถปลูกมะม่วงเพื่อเป็นพืชเสริมรายได้ หรือปลูกในลักษณะเป็นสวนเพื่อการส่งออก

ปัจจัยจำเป็นที่ต้องใช้

1. พันธุ์ มะม่วงมีพันธุ์มากมายประมาณกว่า 150 สายพันธุ์ แบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ คือ
– มะม่วงสำหรับรับประทานผลดิบ เช่น เขียวเสวย ฟ้าลั่น พิมเสนมัน แรด มันหนองแซง เป็นต้น
– มะม่วงสำหรับรับประทานผลสุก เช่น น้ำดอกไม้ อกร่อง หนังกลางวัน ทองคำ เป็นต้น
– มะม่วงที่ปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมแปรรูป ได้แก่ มะม่วงแก้ว มะม่วงสามปี และมะม่วงโชคอนันต์
2. ดิน มะม่วงชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียวที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถระบายน้ำได้ดี หากปลูกในที่ราบลุ่มซึ่งดินส่วนใหญ่จะเป็นดินเหนียว จะต้องยกร่อง และควรมีดินความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง (pH) 5.5-7.5
3. ระดับน้ำในดิน และความลึกของหน้าดิน ถ้าระดับน้ำในดินตื้นรากมะม่วงจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถยึดดินเพื่อประคองลำต้นได้ ทำให้ลำต้นแคระแกร็น และโค่นล้มได้ง่าย (ควรมีเนื้อดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร )
4. อุณหภูมิ มะม่วงเป็นพืชที่เจริญเติบโตที่อุณหภูมิ 20-34 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิก่อนการออกดอก 5-20 องศาเซลเซียส ต่อกัน 2 สัปดาห์

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. การเตรียมดิน

– การปลูกในที่ลุ่ม ต้องขุดร่องสวนไถพรวนดิน แล้วตากดินไว้จนสุก (ประมาณ 15-30 วัน)จากนั้นจึงขุดยกร่องสำหรับการระบายน้ำ ขนาดของร่องสวนทั่วไปนั้น ฐานร่องกว้างประมาณ 6-6.5 เมตรสันร่องกว้าง 5.5 เมตร ท้องร่องกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1.4 เมตร ให้มีค่าความเป็น กรด-ด่าง เหมาะสมเมื่อขุดยกร่องเสร็จแล้ว ต้องปรับสภาพดินแล้วจึงปรับให้ดินร่วนซุย โดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จากนั้นให้
ตากดินอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงพรวนดินบนสันร่องเพื่อกลับหน้าดิน และเริ่มลงมือขุดหลุมปลูก

การปลูกในที่ดอน ก่อนที่จะปรับปรุงดิน วิเคราะห์ค่า (pH) ความเป็นกรดด่างของดินแล้วปรับสภาพดินโดยการพรวนดินประมาณ 1-2 ครั้ง สำหรับดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ก็กำจัดวัชพืชแล้วลงมือขุดหลุมปลูกได้เลย แต่ถ้าหากเป็นดินทรายจัด มีอินทรีย์วัตถุอยู่น้อยก็ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพิ่มเติม

2. การขุดหลุมปลูก

– โดยปกติจะกำหนดให้หลุมมีความกว้าง ยาว และลึกประมาณ 50 เซนติเมตร (หากดินดีสามารถขุดหลุมขนาดเล็กได้) ระยะของการปลูกมีหลายระยะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปลูก หากมีระยะการปลูกแบบถี่หรือระยะชิด และจำเป็นต้องดูแลตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีทั้งคุณภาพและปริมาณ ส่วนระยะการปลูกแบบห่าง (ประมาณ 6×6 เมตร ขึ้นไปจนถึง 10×10 เมตร ) เป็นการปลูกที่เหมาะสมสำหรับมะม่วงที่ขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง

3. วิธีปลูก

– การปลูกด้วยการทาบกิ่ง ติดตา ให้ปลูกลึกระดับเดียวกับดินในภาชนะปลูกเดิม หรือสูงกว่าแต่ต้องไม่ปิดรอยที่ติดตาหรือตัดต่อกิ่งไว้ เพื่อสะดวกในการลอกพลาสติกพันแผลออกและเป็นการป้องกันไม่ให้ติดโรคทางรอยแผลได้
– การปลูกด้วยกิ่งตอน ให้ปลูกลึกระดับเดียวกับดินในภาชนะเดิม หรือให้เหลือจุกมะพร้าวในการตอนโผล่อยู่เล็กน้อย ไม่ควรกลบดินจนมิดจุกมะพร้าวเพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย
– เมื่อปลูกเสร็จ ให้ปักไม้เป็นหลัก ผูกต้นกันลมโยกแล้วรดน้ำให้ชุ่ม โดยควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน(ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) เพื่อให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็วขึ้น

4. การเก็บเกี่ยว

การออกดอกของมะม่วง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์มะม่วง ความอุดมสมบูรณ์ของต้นรวมไปถึงสภาพอากาศด้วย อายุการเก็บเกี่ยวนับตั้งแต่ออกดอกจนถึงวันเก็บเกี่ยวประมาณ 95-115 วัน

ผลผลิต ตลาดและผลตอบแทน

มะม่วง สามารถจำหน่ายเป็นผลสด โดยจำหน่ายเป็นกิโลกรัม หรือนำไปแปรรูปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และความนิยมในการบริโภค เช่น มะม่วงแก้วนิยมนำมาดอง มะม่วงน้ำดอกไม้จะมีราคากิโลกรัมละ 20-40 บาท แต่ถ้ามะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก ราคาอยู่ระหว่าง 50-70 บาทต่อกิโลกรัม

แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร