
1) สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศต้นกำเนิดของคำว่า วีแกน (Vegan) หากนับจากหลักฐานของ
สมาคมวีแกนแห่งสหราชอาณาจักร (The Vegan Society) ที่บัญญัติศัพท์คำว่า วีแกน พบว่า วิถีแห่งวีแกนในสหราชอาณาจักรมีมานานราว 75 ปี และค่อยๆ แทรกซึมอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนมากขึ้นเป็นลำดับและเริ่มเด่นชัดขึ้นในช่วงไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา
ในช่วงปีที่ผ่านมา มีดัชนีชี้วัดหลายตัวที่แสดงให้เห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วของ
ตลาดอาหารวีแกนในสหราชอาณาจักร อาทิ ร้านอาหารสำหรับชาววีแกนในสหราชอาณาจักรมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ร้านอาหารรายใหญ่อย่าง Pizza Hut,Wagamama, Nando’s และ Zizzi ต่างเพิ่มรายการอาหารวีแกนในเมนูเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคอย่างคึกคัก นอกจากนี้ ห้างซูเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ตัวอย่างเช่น ห้าง Tesco และSainsbury’s ต่างเพิ่มจำหน่วนสินค้าอาหารวีแกน พร้อมทั้งมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนที่ทำจากพืชเพื่อใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ “Wicked Kitchen” ที่มีพืชเป็นส่วนประกอบหลักผลิตภัณฑ์ Shroomdogs (ไส้กรอกเห็ด) Cauli Burger (เบอร์เกอร์กะหล่ำดอก) BBQ Jackfruit (บาร์บีคิวเนื้อขนุน) และ Mushroom Mince (เห็ดบดเพื่อทดแทนเนื้อหมูบด) เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มคนวีแกน หรือคนที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์

ที่มา: ฐานข้อมูล Mintel GNPD

ที่มา: ฐานข้อมูล Mintel GNPD
ปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นตลาดอาหารวีแกนที่มีศักยภาพโดดเด่นในอันดับต้นๆ ของโลก
ประชากรมีกำลังซื้อสูง มีกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภค องค์กรธุรกิจตลอดจนสมาคมที่เกี่ยวข้องตื่นตัวในเรื่องวีแกนเป็นอย่างยิ่ง และเริ่มพัฒนาบริการด้านมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์รวมถึงบริการด้านวีแกนจำนวนมาก จากข้อมูลจำนวนสินค้าใหม่ที่ออกสู่ตลาด (New Product Launce) ทั่วโลกที่ได้จากฐานข้อมูลของบริษัทวิจัย Mintel พบว่า สหราชอาณาจักร เป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ อาหารวีแกนออกวางจำหน่ายมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 14.3 ของผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนที่จำหน่ายในตลาดโลก
ตลาดอาหารวีแกนในสหราชอาณาจักรจะมียอดขายสูงมากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและ
ปีใหม่ของทุกปี เนื่องจากผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรจำนวนมากนิยมรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในช่วงดังกล่าว เพื่อเป็นการดีท็อก (Detox) ของเสียจากร่างกายภายหลังจากการเฉลิมฉลองเทศกาล ทำให้ความต้องการรับประทานอาหารวีแกนในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จึงเรียกช่วงเวลานั้นว่าเดือน “Veganuary” โดยในปีที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักรต่างพัฒนาสินค้าวีแกนและ นำออกมาวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากคิดที่จำนวนผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายจะเห็นว่า บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่สัญชาติอังกฤษ 3 ราย คือ Tesco, Sainsbury’s และ The Co-operative Group ถือเป็นผู้นำตลาด ขณะที่บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่สัญชาติอังกฤษรายอื่นก็มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่าง เห็นได้ชัด เช่น Marks & Spencer, Waitrose, Asda Stores รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติเยอรมันอย่าง Lidl Stiftung & Co. เป็นต้น

2) เยอรมนี
เยอรมนีเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านตลาดอาหารวีแกนในระดับเดียวกับสหราชอาณาจักร
จากข้อมูลของ Vegane Gesellschaft Deutschland ในปี 2560 ระบุว่าประเทศเยอรมนีมีจำนวนคนที่
บริโภคอาหารมังสวิรัติประมาณ 8 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด 82.7 ล้านคนของประเทศ ในขณะที่มีจำนวนประชากรที่เป็นคนวีแกนประมาณ 1.3 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 1.6 จำแนกออกเป็นเพศหญิงประมาณ 1.05 ล้านคน เพศชายประมาณ 250,000 คน จะเห็นได้ว่าคนวีแกนที่เป็นเพศหญิงมีสัดส่วนสูงกว่าเพศชายถึง 4 เท่าตัว และมีการประมาณการว่าในประเทศเยอรมนีในแต่ละวันจะมีคนที่หันมาเป็นมังสวิรัติเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 คน และวีแกน 200 คน การขยายตัวของผู้บริโภควีแกนตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2557 – 2559) ส่งผลทำให้ร้านอาหารวีแกนในเยอรมนีมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ19.4 ต่อปี ในขณะเดียวกันในปี 2560 เยอรมนีก็มียอดขายสินค้าอาหารมังสวิรัติและวีแกนในตลาดขายปลีกสินค้าอาหาร 818.7 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 จากปีก่อนหน้า โดยเมืองที่มีการใช้จ่ายในร้านอาหารวีแกนต่อหัวมากที่สุด ได้แก่ เมือง Leipzig และ Jena

ที่มา: VEBU
ตลาดอาหารวีแกนในเยอรมนีไม่ได้เติบโตในช่องทางปกติเท่านั้น แต่ยังขยายตัวในช่องทาง
ออนไลน์อีกด้วย ในปี 2558 มูลค่าการจับจ่ายสินค้าอาหารในเยอรมนีผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมทั้งหมด 736 ล้านยูโร โดยสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งซื้อส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์มากถึง 70 ล้านยูโร หรือ ร้อยละ 10 รวมถึงสินค้าหายากหรือมิได้มีจำหน่ายทั่วไป เช่น เห็ดชิตาเกะ เครื่องปรุงอาหารต่างชาติ หรือผลไม้ เมืองร้อน เป็นต้น
ตลาดอาหารวีแกนในเยอรมนีไม่ได้เติบโตในช่องทางปกติเท่านั้น แต่ยังขยายตัวในช่องทาง
ออนไลน์อีกด้วย ในปี 2558 มูลค่าการจับจ่ายสินค้าอาหารในเยอรมนีผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมทั้งหมด736 ล้านยูโร โดยสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งซื้อส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์มากถึง 70 ล้านยูโร หรือร้อยละ 10 รวมถึงสินค้าหายากหรือมิได้มีจำหน่ายทั่วไป เช่น เห็ดชิตาเกะ เครื่องปรุงอาหารต่างชาติ หรือผลไม้ เมืองร้อน เป็นต้น

3) สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ตลาดอาหารวีแกนเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตามการ
ขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภควีแกน (Veganism) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ในช่วง 5 ปีก่อน นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่เรียกว่ามังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) หรือกลุ่มคนที่บริโภคอาหารมังสวิรัติเป็นหลัก แต่ยังคงบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เป็นครั้งคราว นับเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญที่ผลักดันการขยายตัวของตลาดอาหารวีแกนในสหรัฐฯ
กระแสวีแกนในสังคมสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ทั้งดารา
นักแสดง ศิลปินนักร้อง นักกีฬา เหล่าบรรดาเซเลบริตี (Celebrity) ในหลากหลายวงการ ทำให้เหล่าบรรดาแฟนคลับผู้ชื่นชอบและติดตามกลุ่มคนเหล่านี้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียบแบบ ประกอบกับคนรุ่นใหม่มีความใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชิงชังกับการทารุณกรรมสัตว์ รวมถึงผลลัพธ์ที่ชาววีแกนได้รับเป็นรูปธรรม คือด้านสุขภาพที่เกิดจากการที่หันมาบริโภคอาหารจำพวกพืชผักมากขึ้น เป็นเสมือนการควบคุมน้ำหนักโดยที่ไม่ต้องใช้วิธีอดอาหารเหมือนพฤติกรรมที่ปฏิบัติมาในอดีต รวมทั้งเป็นการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่างๆกลุ่มคนวีแกนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดอาหารวีแกนรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคนกลุ่มดังกล่าวขยายตัวตามไปด้วย

การขยายตัวของกลุ่มคนวีแกนในสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจด้านอาหาร
และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อิทธิพลของคนวีแกนได้ก้าวไปสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วยโดย Beyond Investing (Beyond Meat) เป็นบริษัทผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนรวมวีแกนขึ้นครั้งแรกของโลก เรียกว่า US Vegan Climate Exchange Traded Fund หรือกองทุน ETF ใช้สัญลักษณ์ว่า “VEGN” เพื่อจำหน่ายให้กับนักลงทุนผู้สนใจในกองทุนดังกล่าว โดยกำหนดเริ่มซื้อขายกันวันแรกคือวันที่ 10 กันยายน 2562
หลักการสำคัญของกองทุน VEGN คือ การเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่มีการดำเนินงานที่
สอดคล้องกับวิถีวีแกน โดยพอร์ตการลงทุน (Investment Portfolio) จะไม่มีหุ้นธุรกิจที่มีรายได้มาจากการแสวงหาประโยชน์จากเด็กหรือใช้แรงงานมนุษย์แบบผิดกฎหมาย ธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ธุรกิจที่มีการใช้สัตว์ในการหาผลประโยชน์ เช่น กีฬา บันเทิง กิจกรรมสันทนาการ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่มีการใช้สัตว์เป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยหรือทดสอบ (Animal Testing) ธุรกิจยาสูบ/บุหรี่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตอาวุธและธุรกิจน้ำมันหรือพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น แม้ว่าหลักการของกองทุนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว แต่ก็ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกิจการที่มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจที่สวนทางกับวิถีวีแกนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพลังของวีแกนที่มีอิทธิพลต่อตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตามลำดับ และอาจขยายไปสู่ตลาดในส่วนอื่นของโลกอีกด้วย

ที่มา: ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร
ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคอาหารวีแกนในสหรัฐฯ มีจำนวนหนาแน่นในพื้นที่แถบชายฝั่งมหาสมุทร
แปซิฟิก ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโอรีกอน และรัฐวอชิงตัน และพื้นที่แถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เช่นรัฐนิวยอร์ก และรัฐเวอร์จิเนีย ในขณะที่พื้นที่ตอนกลางของประเทศมีผู้บริโภควีแกนเบาบาง นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวไปสู่รัฐอื่นๆ ได้อีกในอนาคต ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้บริโภควีแกนและกลุ่มคนที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในสหรัฐอเมริกา (Flexitarian) ทำให้คาดว่าตลาดอาหารวีแกนในสหรัฐฯจะเปลี่ยนจากการเป็นตลาด Niche Market และก้าวเข้าสู่ตลาดกระแสหลักในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์จะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดที่สำคัญ
สำหรับเหตุผลหลักที่จะสนับสนุนแนวโน้มดังกล่าว คือ ผลการสำรวจผู้บริโภคสหรัฐฯ ของ
สำนักข่าว South West News Service (SWNS) ในกลุ่มคนที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเพิ่มการบริโภค
อาหาร Plant-Based Food พบว่า ประชากรสหรัฐฯ ร้อยละ 70 เห็นว่า การบริโภคอาหารโดยวิธีดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีสุขภาพดีโดยที่ไม่รู้สึกว่าต้องสูญเสียวิถีการบริโภคอาหารเดิมๆ ที่พวกเขารักไป เช่นสามารถบริโภคเนื้อสัตว์หรือปลาได้บ้างเป็นบางโอกาส เพื่อเข้าสังคมและลดความเสี่ยงจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ชาวอเมริกันให้การยอมรับวิถีการบริโภคแบบยืดหยุ่น คือเชื่อว่าจะช่วยให้พวกเขามีร่างกายและจิตใจดีขึ้น ตลอดจนการเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกๆ

ร้านอาหารวีแกนในรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ
ในช่วงปีที่ผ่านมามีจำนวนสินค้าอาหารวีแกนเข้าวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่ว
ประเทศและมีอัตราเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่น Whole Foods Market ที่มีสาขากระจายอยู่อย่างหนาแน่นใน 7 รัฐของสหรัฐฯ ได้แก่ New York, Maryland, Massachusetts, Pennsylvania, North Carolina,
Virginia และ New Jersey บริษัท Organic Spices ที่เข้ามาทำตลาดอาหารวีแกนเต็มตัวในปีที่ผ่านมา โดยมีการนำสินค้าค้าออกสู่ตลาดสูงถึง 85 รายการภายในปีเดียว ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Wegmans Food Markets ที่มีสาขาอยู่ 100 แห่งในแถบรัฐทางภาคตะวันออกของประเทศ ก็มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายไม้น้อยไปกว่าผู้นำอย่างบริษัท Organic Spices ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าวีแกนออกสู่ตลาดอย่างคึกคัก มาจากการที่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใช่คนวีแกนต่างหันมาบริโภคอาหารวีแกนมากขึ้น โดยมีเหตุผลหลักมาจากความต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารวีแกนมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่รักษ์สุขภาพได้หันมาซื้ออาหารวีแกนรับประทาน เป็นผลทำให้ความต้องการอาหารวีแกนขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น
