Thailand Commodities ครัวไทยสู่ครัวโลก

จุดเริ่มต้นนวัตกรรมอาหาร

หากคุณอยากรู้จักประเทศไหนสักประเทศให้ดีขึ้นให้รู้จักผ่าน “อาหาร”
เพราะอาหารเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ เนื่องจากมนุษย์คือสัตว์ประเภทเดียวในโลกที่รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และปรุงอาหาร เพื่อ“ความอร่อย”มิใช่เพียงแค่กินเพื่ออิ่มท้องหรือมีชีวิตรอดอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อเราพูดถึงวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจึงไม่ได้มีแค่มิติของการขาดแคลนแต่มีอีกหลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่มาก

หากพูดถึงเรื่องอาหารของประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่าเรามีภาพลักษณ์เป็นประเทศที่ร่ำรวยในเรื่องการกินเป็นอย่างมาก และมีฝีมือในการสร้างสรรค์อาหารสารพัดอย่างโดยเฉพาะผัดไทย แกงมัสมั่น ต้มยำกุ้ง หรือส้มตำ ซึ่งมีรสชาติถูกปากนานาชาติจนบัดนี้กลายเป็นอาหารที่คนทั่วโลกรู้จักดี ยังไม่นับรวมผลไม้ที่ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมอีกหลากหลายชนิดอีกมิติหนึ่งของประเทศไทยคือการเป็นผู้แข่งขันรายสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารโลก

เราส่งออกทั้งข้าว กุ้งแช่แข็ง ไก่ ผลไม้ต่างๆ เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมประมงที่ใหญ่ติดอันดับโลก ความเป็นประเทศที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ยังเป็นภาพลักษณ์ที่คนไทยทุกคนจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าในปัจจุบันร้อยละ 70 ของพื้นที่ในประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถึงกระนั้นก็
ยังน่าเป็นห่วงว่าเกษตรกรของประเทศไทยกลับไม่ได้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกษตรได้รับเงินสนับสนุนคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักของงบประมาณในแต่ละปีอุตสาหกรรมเกษตรจึงยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ซึ่งนั่นอาจเป็นภาพสะท้อนถึงวิถีการทำงานของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ยังคงต้องทำการเกษตรแบบเดิมเหมือนสมัยที่ปู่หรือพ่อของพวกเขาทำอยู่ ซึ่งดูเป็นเรื่องขัดแย้งกันอย่างมากกับภาพลักษณ์ของอาหารไทยในสายตาคนต่างชาติ ดังนั้นความท้าทายของเกษตรกรและผู้ที่ทำงานอยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตอาหารก็คือ ทำอย่างไรจะให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศนี้อยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ มากมาย

เราจะอยู่รอดอย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทั้งกระบวนการผลิต สภาพอากาศและรสนิยมของผู้บริโภค