smart farm เกษตรอัจฉริยะ

เกษตร smart farm thailand การเพิ่มประสิทธิภาพ ผลผลิต ผลไม้ ทุเรียน

เทคนิคการปลูกและดูแลรักษาทุเรียน

1.การเตรียมการก่อนปลูก

1.1 การเตรียมดินที่ลุ่ม ยกร่องสวนให้สันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตรมีระบบระบายน้ำเข้า-ออกที่ดอน ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ และขุดร่องระบายน้ำภายในสวน
1.2 การเตรียมพันธุ์ต้นแข็งแรง ไม่ค้างปี ตรงตามพันธุ์ ต้นตอเป็นพันธุ์พื้นเมือง ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่าระบบรากไม่ขดหรืองอ มีใบหนาสีเขียวเข้ม

2.การปลูก

2.1 แบบเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ปลูกให้รอยต่อระหว่างต้นพันธุ์และต้นตออยู่สูงกว่าระดับดิน กลบดินให้แน่น
2.2 แบบนั่งแท่นหรือยกโคก ไม่ต้องขุดหลุมปลูก วางต้นพันธุ์แล้วขุดดินมากลบจนอยู่ในระดับเดียวกับผิวดินของต้นพันธุ์ พรวนดินและขุดดินเพื่อขยายโคนปีละ 1-3 ครั้ง จนเริ่มให้ผลผลิตจึงหยุด
2.3 ปลูกระบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูก 8 X 8 เมตร หรือ 10 X 10 เมตร
2.4 ปลูกระบบแถวกว้างต้นชิดระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 10 X 5 เมตร หรือ 12 X 6 เมตร

3.การดูแลรักษา

3.1การให้ปุ๋ยปุ๋ยคอก อัตราปีละ 2.25 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ครั้ง ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16อัตราปีละ 1 กิโลกรัมต่อต้น
3.2การให้น้ำความต้องการน้ำของทุเรียนต้นเล็ก ประมาณ 0.6 เท่าของค่าอัตราการระเหยน้ำ (มิลลิเมตรต่อวัน) คูณด้วยพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม เช่น ในภาคตะวันออก เมื่ออัตราการระเหยน้ำวันละ3.8 – 5.7 มิลลิเมตร มีพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร เท่ากับการให้น้ำวันละ 2.3 – 3.4 ลิตรต่อต้นระบบการให้น้ำที่เหมาะสม ใช้ระบบการให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงเล็ก

4.การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

4.1 โรครากเน่าโคนเน่า ระบาดมากในช่วงฝนตกชุกหรือในช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง อาการโคนเน่าจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงหมดฝน ทำลายได้ทุกส่วนของพืช
4.2 โรคราใบติด ระบาดมากในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะต้นที่มีใบแน่นทึบเกินไป ทำลายบริเวณส่วนของยอดและใบ
4.3 โรคราสีชมพู ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ทำลายบริเวณง่ามกิ่งและโคนกิ่ง
4.4 โรคใบไหม้/แอนแทรคโนส ระบาดมากช่วงฤดูฝนและแล้ง ส่วนใหญ่เกิดในช่วงพืชแตกใบอ่อนหรือพืชอ่อนแอ เช่น ขาดน้ำในฤดูแล้ง บริเวณขอบใบหรือกลางใบ
4.5 เพลี้ยไก่แจ้ ระบาดมากช่วงระยะแตกใบอ่อน โดยจะกัดกินใบอ่อน
4.6 เพลี้ยไฟ ระบาดมากช่วงที่ออกดอก และผลอ่อน
4.7 เพลี้ยจักจั่นฝอย ระบาดมากช่วงที่ต้นแตกใบอ่อน
4.8 เพลี้ยแป้ง ระบาดช่วงระยะเริ่มติดผลจนผลโตเต็มที่
4.9 ไรแดง ระบาดช่วงเวลาที่มีอากาศแห้งแล้ง เข้าทำลายบริเวณใบทุเรียน ทำให้มีสีซีดทั้งใบ
4.10 หนอนกินขั้วผลระบาดในระยะทุเรียนผลอ่อนจนถึงผลแก่ เข้าทำลายที่ขั้วและเปลือกผลทุเรียน
4.11 หนอนเจาะผล ระบาดช่วงผลอายุ 6 สัปดาห์หลังดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยว ทำลายที่ผิวผลทุเรียน และภายในเนื้อ
4.12 หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ระบาดช่วงตั้งแต่ผลทุเรียนอายุ 6 สัปดาห์จนถึงเก็บเกี่ยว ทำลายที่เมล็ด และภายในเนื้อ

5.การปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

5.1 การเก็บเกี่ยว นับอายุผลตั้งแต่วันดอกบานจนถึงวันเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์กระดุมทองประมาณ 90 – 100 วัน พันธ์ุชะนีประมาณ 105 – 110 วัน และพันธุ์หมอนทอง ประมาณ 120 – 135 วันสังเกตก้านผล จะแข็งและมีสีเข้มขึ้น สัมผัสจะรู้สึกสากมือ ปากปลิงจะบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจนเมื่อจับก้านผลแล้วแกว่ง จะรู้สึกว่าก้านผลมีสปริงมากขึ้น สังเกตสีผิวผลและร่องหนาม ผิวจะแห้งกร้านปลายหนามจะแห้งร่องหนามห่างและกว้างขึ้น เมื่อบีบหนามเข้าหากันจะทำได้ง่าย การเคาะเปลือกจะมีเสียงก้องดังโปร่งๆ ไม่แน่นทึบ การชิมปลิง เมื่อปาดขั้วผลจะพบว่ามีน้ำใส ไม่ข้นเหนียว และชิมดูจะมีรสหวาน สังเกตสีเนื้อและสีเมล็ด สีเนื้อทุเรียนจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองอ่อนและเข้มขึ้น
ตามลำดับ เมล็ดจะเปลี่ยนจากสีครีมเป็นสีน้ำตาล การปล่อยให้ผลทุเรียนร่วง ผลทุเรียนบนต้นเริ่มแก่สุกและร่วงเป็นสัญญาณเตือนว่าทุเรียนที่เหลือบนต้นเริ่มแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้
5.2 หลังเก็บเกี่ยว การขนย้าย ควรขนย้ายให้น้อยครั้งที่สุด เพราะการขนย้ายแต่ละครั้งจะทำให้หนามทุเรียนทิ่มแทงกัน เป็นช่องทางให้เชื้อราเข้าทำลายได้ การคัดคุณภาพ คัดแยกผลที่มีตำหนิจากโรคและแมลง จากการเก็บเกี่ยว ขั้วหัก และคัดขนาดตามความต้องการของตลาดการควบคุมโรคผลเน่า โดยการจุ่มผลในสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา การบ่มทุเรียน ด้วยการจุ่มสารเอทธีฟอน จะทำให้ผลสุกสม่ำเสมอและมีคุณภาพดี หลังจุ่มผลทุเรียนในสารป้องกันกำจัดเชื้อราและสารเอทธีฟอนแล้ว ให้ผึ่งผลทุเรียนให้แห้ง ติดสติกเกอร์รับรองคุณภาพที่ขั้วผล รอการขนส่งไปยังตลาดต่อไป การเก็บรักษา อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษาอยู่ช่วงระหว่าง 14 – 16องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 – 90 % จะเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอายุของผลทุเรียน